ดีเซลพุ่งทุบยอดปิกอัพ 3.0L ลูกค้าทิ้ง-รถมือสองราคาตก | น้ำมัน,ดีเซล,isuzu
การปรับตัวทำนิวไฮต์ในแต่ละวันของราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคส่วน ทำให้ประชาชนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาการการเลือกซื้อรถยนต์นั่ง หรือเก๋ง ที่ผู้บริโภคหันไปนิยมรถขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รายงานไปแล้ว แต่การที่ราคาน้ำมันดีเซลดีดตัวทะลุกว่า 42 บาทต่อลิตร ใกล้เคียงและจ่อแซงหน้าน้ำมันเบนซินในเร็วๆ นี้ ทำให้ส่งผลต่อปิกอัพที่เป็นตลาดรถใหญ่สุดของไทย รวมถึงรถเครื่องยนต์ดีเซลอื่นๆ ด้วย
ไพบูลย์ ภู่เจริญ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ จำกัด เปิดเผย “ผู้จัดการมอเตอริ่ง”ว่า ตลาดปิกอัพมีการเปลี่ยนแปลงมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่น้ำมันดีเซลราคาปรับเพิ่มเรื่อยๆ จนปัจจุบันระดับเดียวกับราคาน้ำมันเบนซินไปแล้ว ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ จากที่เคยนิยมปิกอัพเครื่องยนต์ขนาด 3.0 ลิตร กลับหันไปเลือกซื้อปิกอัพหรือรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กลงแทน
“เดิมสัดส่วนยอดขายปิกอัพอีซูซุเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร จะอยู่ที่ประมาณ 60% ที่เหลือจะเป็นปิกอัพขนาด 2.5 ลิตร ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ใช้งานในภาคขนส่ง แต่ผลจากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนยอดขายปิกอัพขนาด 2.5 ลิตร ขยายตัวเป็น 60% แทนปิกอัพเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันแตกต่างกันมากเท่าใด โดยลูกค้าที่เปลี่ยนไปจะเป็นกลุ่มที่ซื้อปิกอัพรุ่นกลางๆ อย่างรุ่นมีแค็บ ขณะที่กลุ่มบนพวกปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือรุ่นท็อป ฐานลูกค้ายังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก เพียงแต่กลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อยกว่าลูกค้าที่เลือกซื้อรถรุ่นระดับกลางๆ เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนของตลาดปิกอัพเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเราได้ปรับไลน์การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแล้ว”
ส่วนผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้น จะทำให้แนวโน้มตลาดปิกอัพหันมานิยมเครื่องยนต์เล็กลง หรือต่ำกว่า 2.5 ลิตรหรือไม่ นายไพบูลย์ให้ความเห็นว่า… “ดูพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าในไทยแล้ว ไม่น่าจะลงต่ำไปกว่านั้น เพราะเครื่องยนต์เล็กหากจะต้องบรรทุก หรือใช้งานหนักๆ แทนที่จะประหยัดกลับมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นอีก ยิ่งไปเพิ่มแรงม้าในเครื่องยนต์ที่เล็กมาก ก็ยิ่งทำให้กินน้ำมันมากกว่าปกติเข้าไปอีก”
สมพงษ์ ผลจิตจรูญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทาทา มอเตอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ผลจากราคาน้ำมันแพงทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน โดยหันมาซื้อปิกอัพที่มีขนาดเครื่องยนต์เล็กลง ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันสัดส่วนตลาดปิกอัพเครื่องยนต์ขนาดเล็กมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงมาก
“จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ปิกอัพทาทา ซีนอน ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเพียง 2.2 ลิตร แต่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจึงให้กำลังมากถึง 140 แรงม้า และมีอัตราสิ้นเปลื้องเชื้อเพลิงที่ต่ำ ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้ปีแรกไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน และปลายปีก็จะมีรุ่นเครื่องยนต์ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติสู่ตลาดด้วย”
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 25” หรืองานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับผู้จำหน่ายรถยนต์ ได้มีลูกค้าจำนวนหนึ่งได้คืนจองปิกอัพที่มีเครื่องยนต์ 3.0 ลิตรแล้ว เนื่องจากไม่สามารถสู้กับราคาน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเทียบเท่ากับน้ำมันเบนซินได้
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปกปิดโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงของรัฐบาลตั้งแต่อดีตมาแล้ว ทั้งที่ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกแพงกว่าเบนซินอยู่แล้ว แต่การเข้ามาสนับสนุนทำให้ราคาดีเซลในไทยถูกกว่าเบนซินมาตลอด จนเกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน เมื่อวันหนึ่งไม่สามารถทนแบกรับภาระได้อีกต่อไป ที่สุดราคาน้ำมันที่แท้จริงของดีเซลก็ถูกเผยออกมาจนสูงกว่าเบนซิน สุดท้ายก็เกิดปัญหากับตลาดเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงรถมือสองของไทยด้วย”
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถมือสอง จากการสำรวจของ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” พบว่า ขณะนี้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลกำลังประสบกับปัญหายอดขายไม่วิ่ง เนื่องจากลูกค้าหันมาสนใจเลือกซื้อรถเครื่องยนต์เบนซินแทน เพื่อนำไปติดแก๊สใช้งานแทน โดยราคารับซื้อปัจจุบันของปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซล ลดลงถึงคันละประมาณ 50,000 บาท
“ปัจจุบันรถดีเซลยอดขายไม่เดินเลย มีแต่คนขาย รถบางรุ่นเคยตีราคากันอยู่ประมาณ 250,000 บาท เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน หรือบางครั้งก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะลูกค้าไม่ตัดสินใจขาย แต่ขณะนี้รุ่นเดียวกันตีราคาประมาณ 200,000 บาท ลูกค้าก็พร้อมที่จะปล่อยรถเลยทันที หากพ่อค้ารายใดไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลราคากลางกัน อาจจะทำให้ซื้อรถผิดราคาได้” นายธนศักดิ์ สุภาพล พ่อค้ารถยนต์มือสองกล่าว
พิตินันทน์ กฤษดาธานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.เค. คาร์ พลาซ่า จำกัด ผู้จำหน่ายรถเบนซ์มือสองรายใหญ่ เปิดเผยว่า ยอดขายของรถเบนซ์มือสองเครื่องยนต์ดีเซล เริ่มชะลอตัวอย่างมาก ทำให้ต้องลดราคาต่ำลงจากเดิมที่เคยขายถูกว่าเครื่องยนต์เบนซินประมาณคันละ 200,000 บาท กลายเป็นส่วนต่างถึง 300,000 บาท ทำให้ราคารับซื้อเข้ารถเบนซ์เครื่องยนต์ดีเซลก็ลดลงประมาณ 50,000-100,000 บาทต่อคันเช่นกัน
“ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถเบนซ์เครื่องยนต์ดีเซลมาก เรียกได้ว่า ลูกค้าแทบจะไม่เล่น หากเราไม่ลดราคาให้ต่ำกว่ารุ่นเบนซินมากพอ ขณะนี้ในรถปีเดียวกันเครื่องยนต์ดีเซลต้องถูกกว่าเบนซิน 300,000 บาทต่อคัน ลูกค้าจึงจะสนใจ”
ส่วนค่ายรถหรู “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จากการเปิดเผยของ สเตฟาน เมอบิอุส รองประธานฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล รวมทุกรุ่นของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ตกลงมาประมาณ 20%
“ลูกค้าของเราในรุ่นอี-คลาส มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเลือกใช้รถรุ่น E200 NGT มากขึ้น เนื่องจากใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมันเบนซินและก๊าซเอ็นจีวี(NGV) ที่มีราคาถูก โดยขณะนี้มีสัดส่วนการขายสูงกว่า 50% ของยอดขายรุ่นอี-คลาสทั้งหมด และการที่ยอดขายของรถดีเซลลดลง ยังเป็นผลมาจากรุ่นซี-คลาส ใหม่ไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลออกจำหน่าย ทั้งนี้ในอนาคตจะนำออกมาจำหน่ายหรือไม่ ยังรอทิศทางของตลาดก่อน”
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์น้ำมันดีเซลราคาสูงขึ้น ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลดีจากเรื่องกล่าวคือ กลุ่มผู้ค้าเครื่องยนต์เก่า(มือสอง)จากญี่ปุ่น หรือเชียงกง ที่ปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารหันมาเลือกใช้เครื่องยนต์เบนซินบล็อกเจแซด (JZ) ของโตโยต้ากันเป็นจำนวนมาก จนเครื่องยนต์ขาดตลาดและมีราคาถีบตัวสูงขึ้น
สำหรับเครื่องยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เครื่องเบนซินรหัส 1 เจแซด ขนาด 2.5 ลิตร ทั้งฝาขาว(เก่า)และฝาดำ(ใหม่) จากราคาเครื่องละประมาณ 8,000 – 12,000 บาท (ไม่รวมค่าแรงเปลี่ยนเครื่อง) เมื่อปีที่แล้ว ช่วงเวลานี้ราคาขึ้นมาถึงเครื่องละ 15,000- 20,000 บาท ซึ่งหากเป็นเครื่องรุ่นใหม่ และสภาพดีหน่อยราคาจะสูงเกินกว่า 2 หมื่นบาท ขณะที่เครื่อง 1 เจแซด รุ่นมีเทอร์โบ กลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีอัตราการบริโภคน้ำมันสูงกว่าเครื่องรุ่นไม่มีเทอร์โบ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการณ์รถตู้โดยสาร จะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ดีเซลเดิมเป็นเครื่องยนต์เบนซิน แล้วนำไปติดแก๊สไม่ว่าจะเป็นแบบแอลพีจี (LPG) หรือเอ็นจีวี (NGV) เพื่อทำให้ต้นทุนการวิ่งต่อกิโลเมตรถูกลง
“แม้ว่าเครื่อง 1JZ จะดูเหมือนว่ามีขนาดใหญ่ และบริโภคน้ำมันในอัตราสูง แต่จริงๆ แล้วพอดีกับความต้องการของกลุ่มรถตู้ เนื่องจากรถตู้จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังมากพอ หากใช้เครื่องเบนซินที่มีขนาดเล็กจะทำให้รถวิ่งไม่ออก และเมื่อติดแก๊สแล้วต้นทุนการวิ่งจะอยู่เพียงกิโลเมตรละ 1 บาทกว่าเท่านั้น” แหล่งข่าวจากอู่รับติดตั้งเครื่องยนต์และแก๊สรถยนต์กล่าว
นี่คือทิศทางตลาดปิกอัพ หรือรถเครื่องยนต์ดีเซลในไทย ที่ได้รับผลกระทบจากจากราคาน้ำมันแพง ซึ่งขณะนี้บริษัทรถยนต์กำลังจับตามองการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และที่ควรจะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ คือภาครัฐหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการใช้พลังงานให้สอดคล้องความเป็นจริงมากที่สุด ไม่ใช่คิดนโยบายอะไรได้ก็บังคับประชาชน หรือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติทันที โดยไม่ได้ศึกษาละเอียดให้รอบคอบ สุดท้ายก็ไม่ต่างจากนโยบายไม้หลักปักเลนแต่อย่างใด!!
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071765