เคล็ดไม่ลับ...การดูแลรักษาสายพานรถออโตเมติกคู่ใจด้วยตัวเอง

 

 

                 กลับมาพบกันอีกแล้วนะครับ กับสาระดีๆ จาก Mocyc.com ที่ทางทีมงานนำมาฝากกันในวันนี้ครับ จะว่าไปแล้ว ช่วงหลังมานี้ตลาดรถจักรยานยนต์ออโตเมติกหรือเกียร์ออโต้ในไทยขยับปรับตัวสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง รถตลาดอย่าง Fino, Mio, Nuvo, Zoomer, Scoopy-i, PCX และอีกมากมายจนนับกันไม่ถ้วนก็ได้รับความนิยมกันอย่างล้นหลาม ซึ่งรถออโต้เหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยสายพานทั้งนั้น และหลายคนก็จะชอบเจอปัญหาสายพานขาด หรือโดนชามกินอยู่กันเป็นประจำ วันนี้เรามาทำความรู้จักสายพานกันก่อน จากนั้นค่อยไปดูวิธีรักษาสายพานให้ใช้ได้นานๆ กันครับ

 

 

                 แรกเริ่มมาดูกันก่อนว่าสายพานทำงานอย่างไร สายพานนั้นจะทำงานแทนโซ่ ซึ่งใช้สายพานรูปตัว V (V-Belt) ระบบส่งถ่ายกำลังแบบนี้จะประกอบด้วย ล้อขับสายพานหน้าและล้อปรับความเร็วหลัง หรือที่เราเรียกกันว่า พูลเล่ย์ (Pulley) ซึ่งใช้สายพานรูปตัว V เป็นตัวเลื่อน ดังนั้นการเปลี่ยนอัตราทดจึงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของสายพานรูปตัว V ส่วนประกอบของระบบส่งกำลังที่สำคัญมีอยู่ 3 จุดหลักๆ คือ สายพานรูปตัว V (V-Belt), ชุดพูลเล่ย์หน้า และชุดพูลเล่ย์หลัง โดยทั้งหมดยังมีอะไหล่ประกอบที่จะเรียงจากชุดพูลเล่ย์หลังไปทีละชิ้น เริ่มจาก โอริ่ง, เสื้อคลัทช์, ผ้าคลัทช์, สปริง, ปลอกรองสปริง, ซีลน้ำมัน, โอริง, ล้อพูลเล่ย์หลังตัวใน, ล้อพูลเล่ย์หลังตัวนอก, สลักนำร่อง, สายพานรูปตัว V (V-Belt), แหวนกระทะ, คลัทช์วัน – เวย์, แหวนรองแฉก, ล้อพูลเล่ย์หน้านอก, แหวนรอง, บู๊ชรอง, ซีลน้ำมัน, ล้อพูลเล่ย์หน้าตัวใน, ตุ้มน้ำหนัก, แผ่นเลื่อน, พลาสติคสวมร่องแผ่นเลื่อน และปะเก็นฝาครอบชุดสายพาน  ซึ่งทั้งหมดเป็นอะไหล่ของระบบส่งกำลัง

 

 

                  ข้อดีของสายพานอยู่ที่การขับเคลื่อนอัตราเร่งจะดีกว่า รถที่ใช้สายพานจะมีเสียงที่เบากว่าโซ่มาก แถมมีน้ำหนักที่น้อยกว่าด้วย ไม่ต้องการการดูแลรักษาเอาใจใส่จากเจ้าของเหมือนอย่างโซ่ที่ต้องคอยทะนุถนอม อีกทั้งยังไม่มีการหย่อนตัวด้วย แต่ข้อเสียก็จะอยู่ตรงที่สิ้นเปลืองเพราะอายุการใช้งานนั้นสั้นมาก ถ้าวิ่งงานหนักๆเพียงแค่สองเดือนก็อาจขาดได้ วิธีการเปลี่ยนก็ยากกว่าโซ่ แต่ถ้าชำนาญก็สามารถเปลี่ยนเองได้เหมือนกัน

                   แล้วถ้าอยากได้สายพานดีๆมาใช้ล่ะต้องทำอย่างไร? คำตอบก็คือ ซื้อสายพานแต่งครับ จากร้านอะไหล่รถต่างๆ หรือจากเว็บนอก เพราะของแต่งนั้นจะใช้วัสดุที่ดีกว่า มีความทนทานมากกว่าเดิม และรับความร้อนได้ดีกว่า

 

                   ส่วนสาเหตุที่หลายๆคนประสบปัญหาสายพานขาดบ่อยจริงๆก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะหลักๆ เลยก็คือการเสื่อมสภาพไปตามการใช้งานนั่นเอง แต่สำหรับใครที่ทำเครื่องมาแล้วเจอปัญหานี้ ก็ควรพิจารณาเปลี่ยนสายพานโดยด่วน เพราะสายพานที่คุณมีอยู่นั้นไม่สามารถรองรับกับกำลังเครื่องที่แรงกว่าเดิมได้ จึงจะทำให้ใช้งานได้ทนกว่าเดิม ไม่ขาดง่าย

 

 

                   ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีการดูแลรักษาใดๆ ทั้งสิ้น ขาดก็เปลี่ยน จะมีก็แต่วิธีเช็คเท่านั้นว่าควรเปลี่ยนเมื่อไหร่ โดยปกติแล้วผู้ขับขี่ควรจะเข้าเช็คตามระยะที่ทางศูนย์ตั้งไว้ วรตรวจสอบสายพานในระยะแรกคือ 1,000 กิโลเมตร และหลังจากนั้นก็ตรวจเช็คในทุกๆ 4,000 กม. ส่วนตัวสายพานเลยควรเปลี่ยนเมื่อครบ 25,000 กม. หรือว่าถ้าเกิดได้ยินเสียดังมาจากสายพานมากกว่าปกติก็ให้พึงระวังไว้เลยว่าน่าจะมีปัญหาแล้ว

 

 

                   ปิดท้ายด้วยวิธีการดูแลรักษาตรวจสอบสายพาน โดยเริ่มจากเปิดฝาครอบแคร้งสายพานออกก่อน จากนั้นถอดชุดพูลเล่ย์หน้าออกมา ตามด้วยชุดพูลเล่ย์หลัง ก่อนยกชุดสายพานออกให้บีบสายพานเข้าหากันเพื่อสะดวกในการถอด เมื่อถอดทุกชิ้นออกมาแล้วให้ทำความสะอาดคราบฝุ่นละอองที่ติดอยู่ทั้งชุดพูลเล่ย์หน้าและชุดพูลเล่ย์หลัง จากนั้นให้ตรวจสอบเสื้อคลัทช์หากพบว่าสึกหรอให้เปลี่ยนใหม่ ส่วนผ้าคลัทช์หากสึกบางจนเหลือต่ำกว่า 2 มม. หรือเรารู้สึกว่ามันชำรุดแล้ว ก็ควรเปลี่ยนใหม่ ส่วนตุ้มน้ำหนักหากพบว่ามันเบี้ยวไม่กลมจะต้องเปลี่ยนใหม่ยกชุดแต่ที่สำคัญชุดสายพานต้องไม่มีคราบจาระบี น้ำมันหล่อลื่น หรือสารหล่อลื่นใดๆ เลย เพราะมันจะทำให้สายพานลื่น  ระบบการขับเคลื่อนก็จะเสียไปด้วย รถบางคันที่ไม่เคยใช้คันสตาร์ทเลย เมื่อถอดฝาครอบออกมาควรจะทำความสะอาดและใส่จาระบีใหม่ เพื่อให้ระบบสตาร์ทไม่ฝืดและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เมื่อตรวจเช็คเรียบร้อยก็ควรทำความสะอาดก่อนที่จะประกอบ

 

 

                      ส่วนวิธีการประกอบนั้น ก็เริ่มจากใส่ล้อพูลเล่ย์หน้าตัวใน ต่อด้วยสายพานเข้ากับชุดพูลเล่ย์หลังแล้วใส่เข้าไปที่เพลาล้อพูลเล่ย์หลัง ใส่เสื้อคลัทช์ (ชามคลัทช์) ขันน็อตยึดพร้อมใส่โอริง (อย่าลืมเด็ดขาด) ต่อด้วยใส่ล้อพูลเล่ย์หน้าและขันน็อตให้แน่น ใส่ปะเก็นฝาครอบชุดสายพาน เมื่อใส่ทุกอย่างเรียบร้อยลองสตาร์ทด้วยเท้าดูว่าชุดสตาร์ทใช้งานได้หรือไม่ หากมีเสียงดังหรือออกตัวไม่ค่อยไปก็ถอดเปิดและตรวจสอบใหม่ ทำตามขั้นตอนซ้ำเหมือนเดิม

                   เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับสาระดีๆ ที่ทางทีมงาน Mocyc.com นำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ หลายๆ คนที่ใช้รถจักรยานยนต์ออโตเมติกหรือเกียร์ออโต้ทุกคนนะครับ สำหรับครั้งหน้า ทางเราจะนำสาระ เคล็ดลับ เรื่องอะไรมาให้ชาวสองล้อได้ดูกันอีกนั้น รอติดตามกันได้ที่ Mocyc.com กันเลยนะครับ