สวิงอาร์มคู่ กับสวิงอาร์มเดี่ยว ข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร?

           สำหรับชาวไบค์เกอร์ทั้งหลาย คาดว่าหลายๆ คนคงจะรู้จักสวิงอาร์มกันเป็นอย่างดี ซึ่งมันก็คือ ส่วนประกอบของรถมอเตอร์ไซค์ที่ล้อหลัง มีลักษณะเป็นแขน 2 ข้าง ยื่นออกมาประกบ หรือยึดอยู่กับบริเวณตัวล้อ โดยหน้าที่หลักๆ ของสวิงอาร์มนั้นถูกสร้างมาเพื่อเป็นจุดยึดระหว่างล้อหลังกับตัวรถ ซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบที่นิยมใช้กันให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในประเภทรถบิ๊กไบค์  ได้แก่ สวิงอาร์มคู่และสวิงอาร์มเดี่ยว เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาเราไปทำความรู้จักกับโปรอาร์มกันก่อนเลยดีกว่า

           ต้องบอกก่อนเลยว่า ช่วงล่างระบบ Pro-Arm นั้นเป็นช่วงล่างของรถแข่ง ที่มีมาตั้งแต่การแข่งขันรถ Honda NSR 250 ในรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์ กำเนิดโดยทีม Elf France และ Honda จุดเด่นๆ เลยของมันก็คือการเปลี่ยนล้อที่รวดเร็ว ใช้เพียงน๊อตเซ็นเตอร์ล๊อกตรงกลางตัวเดียว (แม้บางรุ่นจะเป็นน๊อตมากกว่า 1 ตัวก็ตาม) ทำให้การเปลี่ยนล้อขณะเข้า Pit stop ใช้เวลาน้อยลงอย่างมาก เพราะเปลี่ยนเร็วและไม่ต้องกลัวระยะโซ่เพี้ยน (เอียง หย่อน ตึง) ด้วยความแปลกในสมัยนั้น และด้วยการที่มันใส่อยู่ในรถแข่ง ก็เลยเป็นจุดเด่นแทนความเป็นสปอร์ตของรถไปโดยปริยาย

           ซึ่งภายในของโปรอาร์มก็จะมีแกนพาดอยู่ตรงกลาง โดยการออกแบบของมันก็จะเป็นลักษณะส่วนโค้งเว้าของตัวโปรอาร์ม โดยจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยคำนวณ เพื่อให้ตัวโปรอาร์มมีความแข็งแกร่งกว่าสวิงอาร์ม (แขนคู่) และยังส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการเกาะถนนที่ดีเยี่ยมกว่าระบบสวิงอาร์มนั่นเอง

           ข้อดีหลักๆ ของเจ้าโปรอาร์มก็คือ จะเข้ามาช่วยในเวลาที่รถมอเตอร์ไซค์ของเราเข้าโค้ง เนื่องจากสวิงอาร์มนั้น เวลาเข้าโค้งจะสามารถทนแรงบิดงอในแนวนอนได้ดี แต่จะไม่สามารถทนแรงในด้านแนวดิ่งได้เหมือนกับโปรอาร์ม เพราะตัวโปรอาร์มนั้นได้รับการออกแบบให้ทนแรงบิดในแนวตรงมากกว่าแรงบิดที่เกิดขึ้นในแนวนอน โดยเวลาเราเข้าโค้ง การทำงานของล้อหลังจะบิดเอียงเล็กน้อย คล้ายๆ กับหางเสือของเรือให้กับล้อหน้า จึงทำให้สามารถเกาะถนนเข้าโค้งได้แคบและมั่นคงกว่า จึงส่งผลให้ตัวโปรอาร์มมีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพมากกว่าสวิงอาร์ม ในกรณีที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง

             แต่จะมีข้อด้อยก็คือน้ำหนักของมันที่มากกว่าสวิงอาร์มทั่วไป นั่นหมายความว่าน้ำหนักใต้สปริงมากขึ้น ต้องแลกมาด้วยการเซ็ตช่วงล่างที่จุกจิกกว่า และมีระบบซับซ้อนมากกว่า ชิ้นส่วนเฉพาะเยอะกว่า โดยอาจจะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง และช่างที่ชำนาญซักนิดเพื่อปรับตั้งในจุดนี้

         

           มาต่อกันที่สวิงอาร์มแบบคู่กัน แรงที่เกิดขึ้นกับตัวสวิงอาร์มนั้นเรียกได้ว่าไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว เพราะไม่ใช่แค่ว่าจะต้องรับแรงกระแทกขึ้นลงของพื้นถนนที่ส่งผ่านล้อมายังเพลาและตัวสวิงอาร์มเท่านั้น แต่ยังต้องเจอแรงดันไปข้างหน้าที่เกิดขึ้นจากการหมุนของล้อ และแรงกระชากขณะเบรกหรือการเชนเกียร์ แม้กระทั่งตอนเทโค้ง มันก็ต้องทนแรงบิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากมุมแรงจากพื้นถนนเพี้ยนไปจากแนวการขยับขึ้น-ลงของตัวมันอีก โดยรูปแบบหลักๆ ของสวิงอาร์มที่เรามักรู้จักกันดีที่สุดนั่นคือสวิงอาร์มแขนคู่ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการใช้งาน

          ซึ่งวัสดุที่ใช้สร้างสวิงอาร์มแขนคู่นั้นไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุชนิดพิเศษให้เปลืองต้นทุนการผลิต เพราะแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะกระจายไปยังขาสวิงอาร์มคู่แต่ละข้าง ซึ่งก็เพียงพอสำหรับกับการใช้งาน

          ส่วนข้อดีของมันก็คงจะเป็นเรื่องราคาโดยรวมของตัวรถถูกลง นอกจากนี้การปรับตั้งระยะโซ่ก็ทำได้ง่าย เพียงแค่คลายน็อตยึดเพลาออกแล้วย้ายตำแหน่งเข้าออกก็จบ

          แต่เมื่อพัฒนาถึงจุดๆ นึง ระบบสวิงอาร์มธรรมดาพัฒนามาไกลมากขึ้น สามารถเปลี่ยนล้อได้รวดเร็วมากขึ้น โอกาสในการเพี้ยนของระยะโซ่น้อยลง โปรอาร์มก็ค่อยๆ หายไปด้วยข้อเสียที่ว่ามา เห็นได้ว่าปัจจุบันรถที่เป็นสปอร์ต แต่โปรอาร์มไม่ค่อยมีแล้ว แม้แต่รถแข่งก็เช่นกัน คงเหลือไว้เพียงรถทัวร์ริ่งที่เอาไว้เพิ่มสีสันและสะดวกต่อการปรับตั้งและถอดล้อยามต้องเดินทางไกล

 

ขอบคุณที่มา : MC Garage, motorival