สัมผัสแรก yamaha tricity สอบผ่านความสนุก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 31 มีนาคม 2557 17:28 น.
หลังจากค่ายส้อมเสียงเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ล่าสุด “Personal Mobility Frontier” หรือการเดินทางรูปแบบใหม่ที่ไร้ขีดจำกัดตามแบบฉบับของยามาฮ่า
มาว่ากันที่ตัวรถรูปร่างหน้าตามาแปลกแหวกแนวอย่างที่เห็น ใช้สองล้อคู่หน้าในการขับเคลื่อนพร้อมยางจุ้บเลสแบบไร้ยางใน ขนาด 90/80-14 M/C 43P โดยมีกลไกการทำงานแบบ LMW (Leaning Muti Wheel) หรือล้อสามารถเอียงขณะเข้าโค้งและยุบตัวแบบอิสระแยกจากกันได้ ส่วนล้อหลังยางจุ้บเลสเช่นกัน แต่เพิ่มหน้ายางกว้างขึ้น ขนาด 110/90-12 64P
สำหรับมิติตัวรถ กว้าง 735 มม. ยาว 1,905 มม. และสูง 1,215 มม. ไม่ได้ดูใหญ่เทอะทะมากนัก และหากว่ากันตามตรงเมื่อตัดชุดล้อหน้าออกไปแล้ว ส่วนอื่นยังคงความโดดเด่นเหมือนสกู๊ตเตอร์ที่คุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะบั้นท้ายยังใช้เฟรมแบบอันเดอร์โบน ถังน้ำมันวางใต้ที่นั่งความจุ 6.6 ลิตร พร้อมพื้นที่ใต้เบาะอเนกประสงค์ขนาด 20 ลิตร สามารถใส่หมวกกันน็อกเต็มใบหรือสัมภาระอื่นๆ ได้ตามต้องการ
ด้านระบบเบรกเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ เพราะนับเป็นสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็กรุ่นเดียวในตลาดที่ใช้ดิสก์เบรกรอบคัน และมาพร้อมระบบกระจายแรงเบรก UBS (Unified Brake System) จากล้อหลังไปสู่ล้อหน้าอีกด้วย ส่วนระบบกันสะเทือนใช้โช้กเทเลสโคปิกด้านหน้า 2 คู่ หรือนับรวมทั้งหมด 4 ต้น ส่วนด้านหลังโช้กคู่เหมือนที่ติดตั้งในรถออโตเมติกทั่วไป
สำหรับขุมพลังเคลื่อนยนต์ 4 จังหวะ สูบเดียว ปริมาตรกระบอกสูบ 124 ซีซี. ระบายความร้อนด้วยน้ำ จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด YMJET ส่งกำลังด้วยสายพาน CVT โดยทางยามาฮ่าไม่ได้แจ้งว่าเป็นบล็อกเดียวกับที่ประจำการอยู่ในรุ่นนูโว เอสเอ็กซ์ (Nouvo SX) หรือไม่ ซึ่งดูจากรายละเอียดแล้วน่าจะเป็นบล็อกเดียวกัน แต่ต่างกันที่อัตราทดการส่งกำลัง เพราะต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โดยทริซิตี้ มีน้ำหนักรวมของเหลวทั้งคัน 152 กก. ขณะที่นูโว เอสเอ็กซ์ หนักเพียง 111 กก.
เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมได้เวลาล้อหมุนสัมผัสความแปลกใหม่ ทีมงานค่ายส้อมเสียงปรับใช้พื้นที่ริมทะเลสาปเมืองทองธานี ให้เป็นสนามทดสอบชั่วคราว ระยะทางประมาณ 300 เมตร มีจุดเลี้ยวสั้นๆ ซ้ายและขวาทั้งหมด 5 โค้ง พร้อมรูปแบบการขี่ที่แตกต่างกัน ทั้งขึ้น-ลงเนิน สลาลอม ลูกระนาด และจุดกำหนดระยะเบรก
ทั้งนี้ จากที่เกริ่นไว้ข้างต้น ยามาฮ่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถร่วมสัมผัสสมรรถนะกันได้ถ้วนหน้า หากนับเฉพาะสื่อมวลชนก็มีจำนวนกว่าครึ่งร้อยแล้ว ทำให้กิจกรรมการทดสอบจึงต้องจำกัดเพียงคนละ 3 รอบ เท่านั้น
รอบแรกผู้เขียนเน้นทำความคุ้นเคยกับตัวรถ ก่อนที่จะเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นในรอบที่เหลือ สังเกตุท่านั่งยังคงความสะดวกสบาย ช่วงแขนตำแหน่งการบังคับแฮนด์วางขนานกับพื้นอยู่กลางลำตัว และแม้ว่าพื้นที่ระหว่างหัวเข่ากับด้านหน้ารถมีน้อยไปหน่อยก็ตาม แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อนักบิดที่มีความสูงไม่เกิน 170 ซม. ขณะเดียวกัน เบาะก็ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป สำหรับคนไทยไซส์มาตรฐานไร้กังวลเท้ายันถึงพื้นแน่นอน
ด้านการควบคุมขณะขี่คล่องตัว การถ่ายเทน้ำหนักเพื่อเข้าโค้งทำได้มั่นใจกว่าสองล้อทั่วไป ส่วนอัตราเร่งต้องยอมรับกันตามตรงว่า ภาระน้ำหนักตัวรถมีมากเกินกว่าที่เครื่องยนต์ พิกัด 125 ซีซี. จะตอบสนองความแรงเร้าใจออกมาได้ อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่กลุ่มเป้าหมายของยามาฮ่า ซึ่งเน้นใช้งานในเมือง ชูความประหยัดและคล่องตัว ขุมพลังบล็อกนี้ก็ตอบโจทย์ได้ตรงจุดที่สุดแล้ว
สรุปภาพรวมของการทดสอบ ***ผู้อ่านท่านใดสนใจเข้าชม งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นเเนล มอเตอร์โชว์ 2014” ณ อิมแพค ชานเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี วันที่ 26 มี.ค.-6 เม.ย. 2557 มารับบัตรได้คนละ 2 ใบ ณ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. โทร 02-629-4488 มารับช่วงเวลาทำการ 8.00-18.00 น. บัตรมีจำนวนจำกัด***
ที่มา : http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9570000036294