สกุ๊ปพิเศษ : 2 ล้อ ไทยถึงจุดอิ่มตัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กุมภาพันธ์ 2553 09:48 น.
ผ่านพ้นปี 2552 ปีวัวบ้าซึ่งบรรดาค่ายรถต่างๆ หวาดหวั่นและทำตลาดอย่างเหนื่อยยากมาเข้าสู่ ปี 2553 ปีเสือที่หลายค่ายบอกว่ามีสัญญาณบ่งชี้ทิศทางที่ดี โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ที่เริ่มแข่งขันกันอย่างดุเดือดนับตั้งแต่เข้าสู่ เดือนแรกของปี “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” สัมภาษณ์ “ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ถึงทิศทางของตลาดและแผนงานต่างๆของยามาฮ่าในปีนี้
-ภาพรวมของตลาดจักรยานยนต์ไทย
ปีที่แล้ว(พ.ศ.2552) ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากมากปีหนึ่งจากปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยตัวเลขยอดจดทะเบียนทั้งหมดมีประมาณ 1.53 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 1.7 แสนคัน หรือลดลงประมาณ 10%(ปี 2008 มียอดประมาณ 1.7 ล้านคัน)
เมื่อหันไปดูจำนวนรถที่มีใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันราว 15 ล้านคันทั่วประเทศ เทียบกับประชากรทั้งประเทศ60 กว่าล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณรถ 1 คันต่อประชากร 4 คน นับว่าเป็นสัดส่วนตัวเลขที่สูงมากพอจะกล่าวได้ว่า ไทยเป็นตลาดอิ่มตัว เทียบประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศมีอัตราราว 1 ต่อ 10 ซึ่งถือว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก
ดังนั้น เมื่อตลาดอยู่ในจุดอิ่มตัวแล้ว ตลาดน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-1.8 ล้านคัน/ปีได้ แต่จะหวังให้เติบโตก้าวกระโดดเป็น 2.5-3.0 ล้านคันคงเป็นไปได้ยาก
-เป้าหมายของยามาฮ่า
สำหรับเป้าหมายการขายของยามาฮ่า ปีที่แล้วเราสามารถปิดยอดขายได้ราว 428,000 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 2 % แต่เมื่อดูสัดส่วนตลาดแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาเป็น 28% แสดงถึงการที่เรามีอัตราส่วนลดลงน้อยกว่าตลาดนั่นเอง ซึ่งเป็นเพราะแนวทางการทำตลาดของเราและตัวสินค้าที่ตอบสนองตรงกับกลุ่มเป้า หมาย
ส่วนเป้าหมายของปีนี้ ยามาฮ่าน่าจะทำตัวเลขได้ถึง 480,000 คัน หรือเติบโตขึ้นประมาณ 12%
กิจกรรมใหญ่รายการแรกของปีจากยามาฮ่า
-สัดส่วนการขาย
ในส่วนของโรงงานยามาฮ่ามีกำลังการผลิตประมาณ 600,000 คันต่อปี ปัจจุบันผลิตราว 90% ของกำลังทั้งหมด โดยแบ่งสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศราว 75% และตลาดส่งออก 25%
ทั้งนี้สัดส่วนการขายในประเทศไทยจากเป้า 480,000 คัน ยามาฮ่ายังคงจะเน้นไปทางด้านรถเกียร์ออโต้ในสัดส่วนประมาณ 70-80% โดยรุ่น ฟีโน่ครองส่วนแบ่งมากสุดราว 50% หรือประมาณ 240,000คัน มีโอประมาณ 25% หรือ 120,000 คัน ขณะที่รถเกียร์ธรรมดาทั้งในรุ่น นาโนและสปาร์ค จะมีสัดส่วน 20% หรือประมาณ 100,000 คัน/ปี ส่วนที่เหลือก็จะเป็นรุ่นอื่นๆอีกราว 5%
สำหรับตลาดรวมคาดว่า สัดส่วนการขายของรถเกียร์ออโต้กับเกียร์ธรรมดา จะอยู่ประมาณ 50:50 หรือ 49:51 เนื่องจากกระแสความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวมถึงมีการเปิดตัวรถ เกียร์ออโต้รุ่นใหม่ๆ ของหลายค่ายทยอยออกมาทำตลาดมากขึ้น
-แผนการตลาดของปีนี้
ยามาฮ่าจะใช้งบการตลาดเท่าๆ กับปีที่ผ่านมาคือประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเน้นมาทางด้านสปอร์ตมาเก็ตติ้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฟุตบอล เราใช้งบไปกว่า 150 ล้านบาท สนับสนุนกิจกรรมทางด้านกีฬาฟุตบอลทั้ง การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก,ฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ, ไทย พรีเมียร์ ลีก และสนับสนุนทีมฟุตบอลอย่างเมืองทองธานี โดยทำอย่างต่อเนื่องมานานถึง 3 ปีแล้ว คือคนดูบอลจะต้องเห็นโลโก้ยามาฮ่าอย่างแน่นอนไม่ว่าสนใจระดับไหน
ขณะที่ด้านมิวสิค มาเก็ตติ้งก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้ลดระดับความสำคัญลงแต่อย่างใด ช่วงเมษายนนี้ แฟนๆ ยามาฮ่า ก็จะได้พบกับพรีเซ็นเตอร์วง “ซุปเปอร์ จูเนียร์” เหมือนเช่นเคย คอนเสิร์ตต่างๆ ยามาฮ่ายังสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและระลึกถึงได้ ปัจจุบันมีแบรนด์รถจักรยานยนต์เพียง 2 ยี่ห้อที่ค่อนข้างโดดเด่น และติดอยู่ใน 50อันดับแรกแบรนด์ที่คนนึกถึง อย่างไรก็ตามในด้านของการแข่งขันปีนี้คงดุเดือดเหมือนเช่นทุกปี ทั้งแง่มาเกตติ้ง, โปรโมชั่น และกิจกรรมต่างๆ คงไม่มีใครยอมใครซึ่งผลดีจะตกแก่ผู้บริโภค
ยามาฮ่า มีโอ 125 ใหม่
-รถรุ่นใหม่
มีแน่นอนแต่ยังไม่สามารถบอกได้ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว มีโอ 125 ใหม่ เครื่องยนต์ขนาด 125 ซีซีเสริมไลน์เพิ่มโดยทำตลาดควบคู่ไปกับ มีโอรุ่นเครื่องยนต์ 115 ซีซี ตั้งเป้า 6,000 คันต่อเดือน ซึ่งวันเปิดตัวรุ่นดังกล่าว ยามาฮ่า เชิญ วาเลนติโน รอซซี่ และฮอร์เก้ ลอเรนโซ่ มาร่วมเปิดตัวด้วย
-การบังคับใช้มาตรฐานไอเสีย
ปัจจุบันกำลังจะเริ่มใช้มาตรฐานไอเสียระดับ 6 หรือ EU3 โดยมีกำหนดบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2553 เป็นต้นไป หมายความว่า รถทุกรุ่นทุกคันที่ผลิตออกจากโรงงานของยามาฮ่าจะผ่านมาตรฐานไอเสียดังกล่าว ซึ่งแน่นอนการทำให้ผ่านมาตรฐานไอเสียดังกล่าวเป็นต้นทุนของผู้ผลิตที่เพิ่ม ขึ้นคันละกว่า 1 พันบาท โดยที่ยามาฮ่ายินดีแบกรับภาระส่วนนี้ เนื่องจากไม่ได้ขึ้นราคาขายกับผู้บริโภค
ทั้งนี้ในปี 2557 จะเริ่มบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับ 7 ทำให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ระบบหัวฉีด รวมถึงรถของยามาฮ่าทุกรุ่นก็จะหันมาใช้เครื่องยนต์แบบหัวฉีดทั้งหมด แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอะไหล่สำหรับรถเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ เนื่องจากบริษัทฯ จะทำการเก็บอะไหล่ไว้อีกถึง 10 ปีหลังยุติการจำหน่ายรถแต่ละรุ่น
ถึง บรรทัดนี้ คงพอจะทราบทิศทางและแนวทางต่างๆ ของตลาดรถ 2 ล้อในบ้านเราได้ ส่วนใครจะรักจะเชียร์แบรนด์ไหน ด้วยเหตุอะไรก็สุดแท้แต่ใจปรารถณา