สกุ๊ปพิเศษ : คำว่า อัศวิน

"nOw_hOw"

คำว่า “อัศวิน”  แต่เดิมคำว่า “อัศวิน” เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสเรียกกองกำกับการอารักขา 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ในนามกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งตำรวจแต่ละนายจะมีรหัสเรียกขานว่า “อัศวิน” จากนั้นจึงได้เรียกยานพาหนะที่ใช้ปฏิบัติภารกิจภายในกองกำกับการอารักขา ว่า “รถอัศวิน”

รถมอเตอร์ไซค์รุ่นแรกของกองกำกับการอารักขา ได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน รุ่น Electra Glide Police ปี 1968 จำนวน 14 คัน สีขาว เครื่อง Shovelhead ขนาด 1200 ซีซี เป็นรุ่นที่ผลิตและออกแบบมาเพื่อใช้นำขบวนเสด็จให้กับประมุข และผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เข้ารับราชการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2516 และเข้าถวายอารักขาในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี เป็นพระราชพิธีสุดท้าย ก่อนที่รถอัศวิน ฮาเลย์-เดวิดสัน จะชำรุด และเสื่อมสภาพ เนื่องจากขาดงบประมาณดูแลรักษา

ทำไมต้องฮาเลย์-เดวิดสัน
ประเทศอเมริกา ใช้รถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน ในการถวายอารักขาความปลอดภัยให้กับองค์ประมุข และบุคคลสำคัญต่าง ๆ โดยในอดีตยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังไม่มีเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทาง FBI มีแนวคิดว่าตำรวจที่อยู่ในรถ หรือยืนอารักขาตามจุดต่าง ๆ ไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์จัดรูปขบวนเพื่อถวายอารักขาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

ในอดีตได้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และอเมริกา ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของตำรวจไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานการทำงานของ FBI ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล จึงเกิดการจัดซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัยต่าง ๆ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน เพื่อใช้ในการถวายอารักขาความปลอดภัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภารกิจของรถอัศวิน
รถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน “อัศวิน” มีภารกิจ “กรุยนำแซง” ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเพื่อถวายอารักขา และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถฯ พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ซึ่งเป็นแขกของรัฐบาล ที่เยือนรัฐบาลอย่างเป็นทางการ อยู่ในความดูแลของกองอารักขา (บชน.)

การปฏิบัติภารกิจ
นายตำรวจประจำกองกำกับการอารักขา จะต้องฝึกซ้อมการขับขี่ทั้งในด้านการจัดรูปขบวน และการกรุยแซง ก่อนลงปฏิบัติงานจริง ซึ่งหัวใจของการขับขี่เพื่อถวายอารักขา คือ ความปลอดภัย และความสวยงามของรูปขบวนเพื่อเทิดพระเกียรติ โดยรูปแบบขบวนจะมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของหมายงานต่าง ๆ สำหรับในงานพระราชพิธีใหญ่ นายตำรวจจะใส่ชุดเครื่องแบบเต็มยศ เรียกว่า “ชุดหมายกำหนดการ” ซึ่งเป็นชุดสีกากี เสื้อยาวคลุมสะโพก และรองเท้าบูทสูง (ตามภาพแนบ) การขับขี่ตามหมายกำหนดการจะใช้รถมอเตอร์ไซค์จำนวน 1 ฝูง ประกอบด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 7 คัน และสำรอง 1 คัน สำหรับงานที่ไม่ใช่หมายกำหนดการ จะแต่งกายในชุดตำรวจปกติ และขับขี่จำนวน 1 ฝูงประกอบด้วยรถมอเตอร์ไซค์มี 4 คัน และสำรอง 1 คัน

ประสบการณ์ความประทับใจ
นายตำรวจประจำกองกำกับการอารักขาทุกนาย มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทในการปฏิบัติงานถวายอารักขาด้วยหัวใจอย่างเต็มกำลัง ซึ่งการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน “อัศวิน” เพื่อปฏิบัติภารกิจจะต้องมีความพร้อมทั้งรถ คน และสภาพแวดล้อม เพราะการปฏิบัติงานดังกล่าวไม่สามารถเกิดความผิดพลาดได้

ด.ต. ชาติชาย มีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการถวายอารักขาทุกหมายงาน เพราะหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเปรียบได้กับนายทหารประจำขาคชสารของพระเจ้า แผ่นดินในอดีต ซึ่ง ด.ต. ชาติชาย เป็นผู้ปลุกฟื้นคืนชีพรถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสันที่ชำรุดให้กลับมาใช้ได้ เป็นครั้งสุดท้ายในงานพระราชพระทานเพลิงศพสมเด็จพระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี เนื่องจากมองเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ จึงควรแก่การจัดรถมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์-เดวิดสัน ซึ่งเป็นรถที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่มีความยิ่งใหญ่มานำขบวนเสด็จให้สมพระ เกียรติ

"nOw_hOw"


ผู้ให้สัมภาษณ์
ด.ต.ชาติชาย ภูมิพรหม
ผู้บังคับหมู่ งานอารักขาที่ 2 กองกำกับการอารักขา 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

นายชัยภัฎ จันทร์วิไล ประธาน คณะบุคคล บี.บี.ดับบลิว กรุ๊ป
ที่มา : http://www.siaminternationalbikeweek.com/event_usawin_exhib.php