โครงการ คอมพิวเตอร์เพื่อน้องผู้ยากไร้ โดย Mocyc.com

  ดาวน์โหลดไฟล์เอกสารโครงการได้ที่นี่..

 

โครงการ คอมพิวเตอร์เพื่อน้องผู้ยากไร้

 

                ในปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไป อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งในกลไกหลักสำคัญ ที่ช่วยในการพัฒนา จากแนวคิดในการนำคอมพิวเตอร์ มาใช้สำหรับ การศึกษาให้เป็นที่ยอมรับกันในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแล้ว หลักเกณฑ์ในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษานั้น ยังไม่เป็นที่เพียงพอ ต่อความต้องการของนักเรียนโดยทั่วไปจากข้อมูลของ กระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ.2549 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการศึกษา ประมาณ 100,000 เครื่องเท่านั้น หรือ คิดเป็นสัดส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต่อ นักเรียนมาก ถึง 60

 

                จากการสำรวจเด็กนักเรียนในชนบทส่วนใหญ่พบว่า ความขาดแคลนในเรื่องของอุปกรณ์การเรียนรู้ดังเช่น คอมพิวเตอร์นั้น ในบางโรงเรียนทางภาคเหนือที่ได้พบเจอ กลับมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องต่อนักเรียนมากถึงร้อยกว่าคน หรือในโรงเรียนบางแห่งไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งานเลย ซึ่งจากข้อเท็จจริงตรงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความล้าหลัง การปิดกั้น ความไม่รู้เท่าทันกับยุคสมัย และโอกาสที่จะสร้างโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับการเรียนรู้ของพวกเขาทั้งนี้ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องผู้ยากไร้ โดยเว็บไซต์ มอไซค์ดอทคอม มีความประสงค์ที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เกิดขึ้น เพื่อ เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนเหล่านั้น ได้มีความพร้อม และ ก่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

                ทางโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องผู้ยากไร้ เชื่อว่าไม่มีการช่วยเหลือใด ที่จะมีค่าเท่ากับการช่วยเหลือ และให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็ก และเยาวชน เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นอนาคตที่สำคัญของประเ ทศชาติในวันข้างหน้า โดยการบริจาคคอมพิวเตอร์ของทางบริษัท, องค์กร, สถาบัน และบุคคลทั่วไป เพื่อทำการช่วยสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน

                "เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเก่า ที่ดูไม่มีค่าอาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ก่อเกิดคุณค่าอย่างมากมาย และเป็นความสุขของการให้ที่ยิ่งใหญ่ ในการมอบความรู้ที่แท้จริง"

 

วัตถุประสงค์   

 

                1. เพื่อสร้างโอกาสการศึกษาของเด็กที่ยังขาดแคลน

                2. การเพิ่มปริมาณ คอมพิวเตอร์ ไปยังโรงเรียน ให้มากที่สุด

                3. เพื่อกระจายเทคโนโลยีไปสู่ชนบท

  

 กลุ่มเป้าหมาย  

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า   ตั้งอยู่หมู่ที่  17  ตำบลยางเปียง  อำเภอ อมก๋อย  จังหวัด เชียงใหม่  เป็นโรงเรียนอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 40 คน

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

 

                เว็บไซต์มอไซค์ดอทคอม ดำเนินการโดย นาย อัษฎา อินต๊ะ

 วิธีดำเนินการ  

ทางเว็บไซต์มอไซค์ดอทคอมได้เล็งเห็นว่าจำนวนคอมพิวเตอร์เก่ามีมากขึ้นทุกวันเนื่องจากเทคโนโลยี่ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องเท่าทันเทคโนโลยี่ คอมพิวเตอร์เก่าเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนดังขยะทางเทคโนโลยี่ ซึ่งส่งผลกับองค์กรนั้นๆ ทางเว็บไซต์มอไซค์ดอทคอมจึงคิดที่จะรีไซเคิลคอมพิวเตอร์เหล่านี้โดยการดำเนินการดังนี้

                1. การขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่าจาก บริษัท, องค์กร, บุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

                2. ทำการซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์เก่า ให้สามารถใช้งานได้เท่าที่เครื่องเหล่านั้นทำได้

                3. รับบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อ , ซ่อม คอมพิวเตอร์

                4. ทำการจัดส่งไปยังเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน ผ่านทางโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย 

 

ที่อยู่ในการรับบริจาคคอมพิวเตอร์

 

                มอไซค์ดอทคอม  เลขที่ 161  หมู่ 3  ต.หนองตอง  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่  50340

 

ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับโครงการ

 

                คุณ อัษฎา  อินต๊ะ                โทรศัพท์ 081-5953392  อีเมล์ mocyc@hotmail.com

                คุณ ปวีณ์ริศา  กาเปา           โทรศัพท์ 081-5953391

 

 

ข้อมูลของ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า

 

 

 

ข้อมูลทั่วไปหมู่บ้านหลังป่าข่า

 

ประวัติหมู่บ้าน   

                บ้านหลังป่าข่าเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ตั้งอยู่หมู่ที่  17  ตำบลยางเปียง  อำเภออมก๋อย  จังหวัดเชียงใหม่  เดิมเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านสบลาน หมู่ที่ 10  ตำบลยางเปียง  เมื่อเดือนมิถุนายน  2544  ได้รับการแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านลำดับที่  17  ของตำบลยางเปียง  รวมกับบ้านห้วยแห้ง ซึ่งแยกมาจากบ้านกองซางหมู่ที่  12  ตำบลยางเปียง แรกเริ่มตั้งหมู่บ้านมีจำนวนประชากรเพียง  4    หลังคาเรือน  ประชากร  6  คน  ต่อมาได้มีชาวบ้านย้ายมาจากที่อื่น เข้ามาตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นอีกจนถึงปัจจุบัน

                ปัจจุบันหมู่บ้านหลังป่าข่า  มีจำนวน 56 หลังคาเรือน 69 ครอบครัว    มีประชากรทั้งหมด  259    คน เป็นชาย 141 คน  เป็นหญิง 118 คน ชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์  มีนายทานุแฮ   หนุนภิรมย์ขวัญ    เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีนายคำหล้า  หนุนภิรมย์ขวัญ และนายดิ๊โพ    หนุนภิรมย์ขวัญ  เป็นสมาชิก อบต.   ประจำหมู่บ้าน     

อาณาเขตติดต่อ

                ทิศเหนือ              ติดกับ     บ้านห้วยแห้ง   ต.ยางเปียง

                ทิศใต้                  ติดกับ     บ้านสบลาน   ต.ยางเปียง

                ทิศตะวันออก         ติดกับ     บ้านมูเซอปากทาง  ต.ม่อนจอง

                ทิศตะวันตก           ติดกับ     บ้านแม้วกองซาง  ต.ยางเปียง

ลักษณะภูมิประเทศ - ภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของบ้านหลังป่าข่าส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ราบและเชิงไหล่เขา

ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของบ้านหลังป่าข่า  มี  3  ฤดู และเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณไหล่เขา ทำให้มีลมพัดตลอดเวลา  จึงทำให้อากาศเย็นตลอดปี

 

สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม    

 

ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยการทำข้าวไร่   ปลูกมะเขือเทศ  ปลูกพริกหยวกเลี้ยงวัว    เลี้ยงหมู  และเลี้ยงไก่

                รายได้ส่วนมากมาจากการทำสวนมะเขือเทศ และการรับจ้าง ทั้งจากภายในชุมชนและภายนอกชุมชน สัตว์เลี้ยง  และทำการค้าขายเล็กน้อยภายในหมู่บ้าน

 

การคมนาคม  

 

การคมนาคมขนส่ง ระหว่างบ้านหลังป่าข่ากับภายนอกใช้ทางรถยนต์  หมู่บ้านหลังป่าข่าอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทาง   196  กม.

                การเดินทางจากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108   เป็นระยะทาง 127 กม. (ระยะทางจากแยกสนามบินเชียงใหม่ถึงอำเภอฮอด  88  กม.  แยกขวาตามเส้นทางฮอด - แม่สะเรียง 39 กม.)  จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1099  ถึงอำเภออมก๋อยเป็นระยะทาง 50 กม.  จากนั้นตรงไปโดยผ่านหน้า  โรงเรียนชุมชนบ้านอมก๋อย ระยะทาง  19 กม.  สามารถใช้รถเพลาเดียวเดินทางได้ ยกเว้นในช่วงฤดูฝนใช้ได้เฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อน  4 ล้อ เท่านั้น

                การคมนาคมของราษฎร  ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางรถยนต์เพื่อไปอำเภออมก๋อย และเพื่อทำการค้าขาย ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากบ้านหลังป่าข่าถึงอำเภออมก๋อย ประมาณ  1.30  ชั่วโมง

การใช้พลังงานสำหรับการหุงหาอาหาร และแสงสว่าง

                ราษฎรบ้านหลังป่าข่า ส่วนใหญ่ใช้ฟืนในการหุงหาอาหาร    หมู่บ้านหลังป่าข่าเป็นหมู่บ้านที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึงหมู่บ้านชาวบ้านยังคงใช้ตะเกียง เทียนไข  สำหรับที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา          "แม่ฟ้าหลวง"  บ้านหลังป่าข่า นั้น มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในการให้แสงสว่าง  ซึ่งมีแผงโซล่าเซลล์จำนวน  2  แผง  และมีแบตเตอรี่ สำหรับสำรองไฟ จำนวน  4  ลูก และเมื่อเดือนมีนาคม  2549             กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ดำเนินการตามโครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบทที่ไม่มีไฟฟ้า โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด  1.5  กิโลวัตต์ 

                ปัจจุบันหมู่บ้านหลังป่าข่า ได้รับโครงการโฮมโซล่าเซลล์  ราษฎรในหมู่บ้านทุกหลังคาเรือนมีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้

 

 

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า

 

 

ประวัติศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า

                ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า แต่เดิมชื่อศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาบ้านหลังป่าข่า ได้ริเริ่มจากโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทางอำเภออมก๋อยและศูนย์การศึกษา  นอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ ได้คัดเลือกหมู่บ้านหลังป่าข่า เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาขึ้น

                โดยได้ส่ง  นางสาววรลักษณ์    วงค์วาร  มาเป็นครูผู้สอน  เมื่อวันที่  1   กันยายน   2535

                ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า ได้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์การเรียน ให้เป็นอาคารเรียนแบบถาวร โครงไม้จริง  พื้นเทซีเมนต์  ก่ออิฐบล๊อคสูง 1 เมตร โดยรอบ  ผนังไม้ตีสลับเพื่อให้เกิดช่องวางในการระบายอากาศและให้แสงสว่างในอาคารเรียน     ขนาด  7 x 16 เมตร  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารจาก มูลนิธิโนบูโก๊ะ  จิมโบ้  แก้ววงศ์ 

 

กิจกรรมการเรียนการสอน  

 

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า  ได้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งกับเด็ก และผู้ใหญ่  โดยดำเนินการสอนเด็กในระดับเตรียมความพร้อม และระดับประถมศึกษา  โดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ.  2544 สำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง  ซึ่งสามารถจำแนกจำนวนผู้เรียนได้       ดังตารางต่อไปนี้

ที่

ระดับ

จำนวนผู้เรียน

หมายเหตุ

 

 

ชาย

หญิง

รวม

 

1

 เตรียมความพร้อม

14

13

27

 

2

ประถมศึกษา

4

5

9

 

 

รวมทั้งสิ้น

18

18

36

 

 

 

บุคลากรประจำศูนย์การเรียนชุมชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า

 

 

1. นางนุชจิเรศ    บัวขาว                       ครูผู้สอน

2. นางสาวเฉลิมภรณ์   ณัฐธยานนท์   ครูผู้ช่วย

 

 


""

""

""

""