Road Test : Spark 135i

 

นิตยสารมอเตอร์ไซค์
ฉบับที่ 452
ประจำเดือน ธันวาคม  2550
ISSN : 0125-1732
ราคา : 50 บาท
 
Road Test บรรณาธิการ : ทวีศักดิ์ นารอดมงคล ช่างภาพ : ภูวดล ต๊ะทองดี
 
ลองหวด SPARK 135 I
เขาว่า... สวย...แรง...ประหยัด จริงหรือเปล่า...???

     ยังคงอยู่ในใจของหลายๆ คนนะครับสำหรับรถแบบเกียร์ธรรมดา ที่อยู่ในช่วงกระแสแรงจัด! ของรถแบบเกียร์ออโตเมติก! ที่เชื่อว่าไม่ช้า ไม่นาน แฟชั่นรถเกียร์ธรรมดาจะย้อนกลับมายิ่งใหญ่! อีกครั้ง

     ค่ายยามาฮ่า เองเป็นผู้ผลิตที่คงทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในไลน์อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดแบบเกียร์ธรรมดาอย่าง X1-R ก็ออกมาเอาใจผู้ใช้ในกลุ่มที่นิยมรถแบบสปอร์ต แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบของตลาดวัยร้อน...วัยแรง! เห็นจะเป็น YAMAHA SPARK 135

      แต่ปริมาณรถก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ ตามหลังมาไว...ไว ยามาฮ่า ออกตัว SPARK 135 I หรือ "หัวฉีด" ให้ได้ฮือฮาอีกครั้ง ด้วยรูปทรง และเทคโนโลยีทำให้รถรุ่นนี้เป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งขึ้นไปอีกระดับ

      วันนี้ผมได้คิวรถ SPARK 135 I มาลองหวดดูเพื่อเค้นสมรรถนะ และจุดเด่นที่น่าสนใจมาฝากท่านผู้อ่าน ตามสไตล์ในคอลัมน์ ROAD TEST ซึ่งก็ได้เริ่มบททดสอบหลังจากที่ให้ทางฝ่ายเซอร์วิสตรวจเช็คความพร้อมของเครื่องยนต์จนเรียบร้อยทุกจุด

      เริ่มจากพินิจดูหุ่นทรง...องค์เอว สีสัน และกราฟฟิก บอกเลยว่าผมต้องใจกับสี และกราฟฟิกรถรุ่นนี้ก่อนเลย อันดับรองคือ เชพ และหน้าตา ออกมาได้สวย ก๋ากั่น ชะมัด! ว่ากันในส่วนท้ายที่เพรียวกระชับ รับกันดีชะมัด SPARK 135 I เป็นรถเกียร์ธรรมดาในดวงใจผมอีกรุ่นหนึ่งทีเดียวครับ

     ผมหวดคันเร่งทดสอบอัตราเร่งในแต่ละเกียร์ ด้วยการสร้างความคุ้นชินอยู่หลายรอบ จนแน่ใจกับรอบเครื่องยนต์ และความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ออกมาตีแผ่เป็นตัวเลขให้ท่านผู้อ่านได้เก็บเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ หรือใช้เปรียบเทียบในวันข้างหน้า ซึ่ง ในวันที่ขับขี่ทดสอบนั้น สภาพอากาศก่อนการทดสอบมีฝนโปรยลงมา และขาดเม็ดลงไป ผมรอจนถนนแห้งเกือบสนิท ลมปะทะน้อยมาก อากาศค่อนข้างอบอ้าว ผมเริ่มจากเกียร์ต้นจนเกียร์สุดท้ายได้ความว่า

อัตราเร่งที่เกียร์ 1 60 กม./ชม.
อัตราเร่งที่เกียร์ 2 80 กม./ชม.
อัตราเร่งที่เกียร์ 3 110 กม./ชม.
อัตราเร่งที่เกียร์ 4 . 135 กม./ชม
 

     ผมลากคันเร่ง รีดรอบ หาอัตราเร่งในแต่ละเกียร์ จนถึง "ท็อปสปีด" อยู่หลายครั้งจนได้ตัวเลขที่มั่นใจ และสมรรถนะการทรงตัวของรถในจังหวะที่อยู่ในความเร็วแบบท็อปสปีด จะเกิด อาการสั่น สะบัดน้อยๆ ในส่วนหน้า ซึ่งน่าจะเกิดจากองศาคอ หรือระยะเทรลที่ค่อนข้างแคบ แต่ให้องศาเลี้ยวที่แคบ และกระชับ ให้การคุมรถในการเข้าโค้งที่ดีกว่า แต่ทำให้เสียจังหวะการคุมรถในทางตรงไปบ้าง

      สุดยอดแห่งปรารถนากับ "หัวฉีด" FLUEL INJECTION ทำให้ค่าความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงลดลงกว่าการจ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งทางผู้ผลิตอ้างเป็นตัวเลขถึง 11 % พร้อม กล่องสมองกล ECU สั่งจ่ายน้ำมันอย่างแม่นยำ เผาไหม้หมดจด พร้อมเซ็นเซอร์ 6 จุด ทำงานไฮเทค และชุดคอนเดนเซอร์อัจฉริยะ สตาร์ทติดได้แม้แบตเตอรี่หมด

      กระบอกสูบไดอะซิล ทนทาน สร้างด้วยอะลูมินัมอัลลอยผสมซิลิกอน ทนทานน้ำหนักเบา เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของยามาฮ่า ทำให้รถรุ่นนี้มีอัตราเร่งรวดเร็ว ว่องไว ระบบเกียร์เข้าง่าย สับเกียร์ และเชนจ์เกียร์นิ่ม สบายไม่กระด้าง

      อัตราเร่งช่วงต้นมาไว ช่วงปลายถ้าได้ทดสเตอร์ใหม่เชื่อว่าขับขี่ทางไกลน่าจะให้อัตราเร่งที่ สะใจ สมใจไม่ใช่น้อย

      ระบบระบายร้อน ด้วยน้ำ! เป็นระบบระบายร้อนที่ทำให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ไม่ตกเวลาใช้งานยาวๆ น้ำจะช่วยระบายความร้อน สมรรถนะเครื่องยนต์ที่ได้รับการระบายความร้อนนั้น จะทำงานได้ดีกว่า การระบายความร้อนแบบลมเพียงอย่างเดียว ซึ่งการระบายร้อนด้วยน้ำนั้น นอกจากจะเป็นผลกับสมรรถนะแล้ว ยังเป็นผลทำให้อัตราสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงประหยัดกว่าอีกด้วยในเวลาเดียวกัน

      ตำแหน่งท่านั่งออกแนวเรซซิ่ง แฮนด์ลู่ต่ำรับกับการคุมรถ หรือจะเรียกว่า "ดร็อปแฮนด์" แบบรถแข่งที่นิยมทำกัน ทำให้การคุมรถกระชับ การพลิกรถคล่องแคล่ว ว่องไว เปลี่ยนทิศทางรถได้ดี ดังรูปที่แสดงในบททดสอบ

      ในส่วนของข้อมูลรายละเอียดเทคนิคของตัวรถ ทางผู้เขียนได้ยกเอาสเป็กตารางของรถรุ่นนี้ลงทั้งหมดโดยละเอียดให้กับท่านผู้อ่านได้ศึกษาในบรรทัดด้านล่างต่อไปนี้

S p e c i f i c a t i o n
เครื่องยนต์ แบบ 4 จังหวะ สูบเดี่ยว SOHC 4 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ
ปริมาตรกระบอกสูบ 134.4 ซี.ซี.
อัตราส่วนกำลังอัด 10.9 : 1
กระบอกสูบ x ระยะชัก 54.0 x 58.7 มม.
ระบบหล่อลื่น ยามาลู้ป 4T (SAE 20w 40)
ระบบจ่ายน้ำมัน ระบบหัวฉีด แบบ Single Cylinder Equipped with FI
ระบบเกียร์ เกียร์วน 4 ระดับ
ระบบคลัตซ์ ออโต้คลัตช์ แบบเปียกหลายแผ่นซ้อนกัน ใช้แรงเหวี่ยงอัตโนมัติ
ระบบสตาร์ท ล้อแม็ก 2S51 สตาร์ทเท้าและสตาร์ทมือ
น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ขึ้นไป
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 3.6 ลิตร
ความจุน้ำมันเครื่อง 0.8 ลิตร
ความจุหม้อน้ำ 0.62 ลิตร
ความจุถังพักน้ำหล่อเย็น 0.28 ลิตร
หัวเทียน เอ็น.จี.เค / ซี.พี.อาร์.9 อี.เอ.-9 (NGK / CPR9EA-9)
โครงรถ กว้าง x ยาว x สูง 705 x 1,945 x 1,065 มม.
ความสูงจากพื้นถึงเบาะ 770 มม.
ระยะห่างจากพื้นถึงเครื่อง 140 มม.
ช่วงศูนย์กลางระหว่างล้อหน้า - หลัง 1,245 มม.
น้ำหนักสุทธิ 105 กก.
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 1,900 มม.
ระบบกันสะเทือน หน้า เทเลสโกปิค
                           หลัง สวิงอาร์ม โช้คอัพเดี่ยว(โมโนครอส)
ระบบเบรก หน้า ดิสก์เบรกเดี่ยว
                 หลัง ดรัมเบรก
ยาง หน้า 60/100-17MC 33P
       หลัง 80/90-17MC 44P

     ทั้งหมดเป็นบททดสอบที่ผมได้ลองควบเจ้าหัวฉีดตัวกลั่น YAMAHA SPARK 135 I ถ้าเทียบกันแล้วระหว่างปอนด์ ต่อปอนด์ กับ SPARK 135 ตัวแรก ในเรื่องของอัตราเร่ง SPARK 135 ตัวก่อนหน้านี้น่าจะให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจกว่า แต่เรื่องของความประหยัด และความคุ้มค่า ถ้าเป็นผมผมเลือก SPARK 135 I ไว้ขี่ใช้งานครับ...!!!