ตลาดรถจักรยานยนต์ ช่วงฮันนีมูนอันแสนสั้น! | จักรยานยนต์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2552 12:17 น.

       ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของชาวบ้าน หากไม่นับไข่ และบะหมี่สำเร็จรูปแล้ว ยกระดับขึ้นมาหน่อยคงต้องบอกว่าจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ เป็นอีกตัวหนึ่งที่บอกบอกสภาวะปากท้องของชาวบ้านได้ ฉะนั้นที่ว่ากันว่าเศรษฐกิจปี 2552 หรือปีวัวไฟนี้ จะเป็นปีเผาจริงหรือไม่? ทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์น่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ในการตอกย้ำคำตอบปีฉลูจะฉลุยหรือไม่?


       ฮันนีมูนอันแสนสั้น-ปีวัวไม่ฉลุย
       
       ในยุคแรกของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีเร่ร่อนในขณะนี้ นับว่าตลาดรถจักรยานยนต์เฟื่องฟูอย่างมาก หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อันเกิดจากโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ทยอยถูกส่งไปยังประชาชนรากหญ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินกู้ยืมให้กับประชาชน หรือกองทุนหมู่บ้าน จึงไม่แปลกที่ส่วนหนึ่งของเงินเหล่านี้ จะถูกผ่องถ่ายไปเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่สินค้าราคาหลายแสนอย่างปิกอัพ รถจักรยานยนต์ที่ถือเป็นพาหนะชั้นยอดของรากหญ้า ย่อมเป็นธรรมดาที่จะได้รับอานิสงส์อยู่แล้ว จนในวงการตลาดรถจักรยานยนต์ถึงฝันหวาน ยอดขายรถจักรยานยนต์ทะลุหลัก 2 ล้านคันแน่ๆ
       
       แต่เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล ทักษิณ2 ความไม่พอใจของชนชั้นกลางและในเมืองเรื่องการคอร์รัปชั่น ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดรัฐประหารเมื่อปลายปี 2549 จนมีรัฐบาลใหม่ด้วยการนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายใต้เงาของทหารครอบงำ ส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และยิ่งมาเจอกับปัญหาภัยธรรมชาติอุทกภัยน้ำท่วมซ้ำอีก

ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2550 จนดิ่งเหวต่อเนื่อง!!
       
       ย่างเข้าสู่ปี 2551 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลจากการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช ซึ่งว่ากันว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาบริหารประเทศ ดูเหมือนสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับสินค้าเกษตรราคาดี โดยเฉพาะข้าวที่เกิดสภาวะขาดตลาดทั่วโลก ทำให้ราคาข้าวดีดตัวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงไตรมาสแรกและสองของปีที่ผ่านมา เกษตรไทยหรือบรรดารากหญ้าทั้งหลาย จึงได้รับปัจจัยบวกตรงนี้ และส่งผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์ที่ชะลอตัว ดีดกลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ผ่านมา และเติบโตต่อเนื่องแม้จะเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง แต่ดูเหมือนช่วงฮันนีมูนของตลาดรถจักรยานยนต์จะสั้นเหลือเกิน เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง และความขัดแย้งขั้นสูงสุดในไทย จนเกิดกรณียึดทำเนียบ ต่อปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง
       
       "ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา มีปริมาณการจดทะเบียนป้ายวงกลมรถจักรยานยนต์โดยรวมทั้งสิ้น 125,323 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 129,608 คันแล้ว มีปริมาณยอดจดทะเบียนลดลง 4,285 คัน หรือเทียบเท่าอัตราการขยายตัวลดลง 3% โดยนับเป็นการเติบโตลดลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดการหดตัวนั้นมาจากสภาพการตึงตัวของสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง"
        นั่นคือคำเปิดเผยของ ธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารส่วนงานขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และกล่าวว่า สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์รวมตลอด 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.)ของปี 2551 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,587,366 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 6% จากยอดสะสมการเติบโตตลอดปีที่ผ่านมา

      อย่างไรก็ตาม การลดลงของยอดขายในเดือนพฤศจิกายน และมีการคาดว่าตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 1.75 ล้านคัน จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงทิศทางแนวโน้มของปี 2552 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์  รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ที่วิเคราะห์ว่า
       
       "ตามการคาดการณ์ของผู้ประกอบการ ในปี 2552 ตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยจะหดตัวถึง 10-20% โดยเป็นผลมาจากราคาพืชผลที่ตกต่ำลง และสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีที่ผ่านมา ที่ยอดขายหดตัวไป 3-5% ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทุกค่ายต้องทำงานหนักในปีนี้ และจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์กันทุกๆ 3 เดือน"
       
       จากตัวเลขการขาย และความเห็นของค่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่ จึงบ่งชี้สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ปีฉลู ที่ดูเหมือนจะไม่ฉลุยซะแล้ว แต่บรรดาค่ายรถสองยังพอมีความหวังกับรัฐบาลใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง ผลักดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานการณ์ทางการการเมืองเริ่มผ่อนคลายขึ้น โดยเห็นว่า
       
       "หากรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานได้ดี ก็เป็นไปได้ที่ตลาดรถจักรยานยนต์จะไม่หดตัวรุนแรงนัก"
       
       พิษศก.รถออโต้ชะลอ-หัวฉีดแรง?
       
       ในเมื่อเป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ปีฉลูจะไม่ฉลุยอีกต่อไป ลองมาสำรวจดูเทรนด์ของตลาดรถจักรยานยนต์จะเปลี่ยนไปหรือไม่? ต้องยอมรับว่าตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสนิยมของรถจักรยานยนต์แบบเกียร์ออโตเมติก (AT) ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากการบุกตลาดอย่างหนักของค่าย ยามาฮ่าจนทำให้แทบทุกค่ายหลักๆ ต่างมีรถประเภทนี้ออกมาชิงยอดขาย ที่สำคัญค่ายรถสองล้อต่างมีการวิเคราะห์กันว่า ต่อไปรถจักรยานยนต์ประเภทเอทีจะมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นมาอยู่ในระดับเกือบครึ่งต่อครึ่งของตลาดรถจักรยานยนต์ทั้งหมด หรือใกล้เคียงกับรถแบบครอบครัว
       แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปจนมาถึงปี 2551 ดูเหมือนกระแสความร้อนแรงของรถจักรยานยนต์เอทีจะชะลอตัวลง ดังจะเห็นได้จากยอดขายเดือนพฤศจิกายนที่พบว่า รถแบบเอทีมีปริมาณการจดทะเบียน 57,166 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 60,835 คันแล้ว มีอัตราการเติบโตลดลง 6% ซึ่งเดือนก่อนหน้าลดลงต่อเนื่อง ส่วนรถแบบครอบครัวอยู่ในสภาวะทรงตัว ส่วนเหตุผลที่ทำให้รถแบบเอทีเริ่มชะลอตัวลง
       
       มาซาโนบุ ไซโต ประธานและซีอีโอ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า "เดิมคาดกันว่าตลาดรถแบบเอทีจะใกล้เคียงกับรถแบบครอบครัว และจากตัวเลขแม้จะไม่ห่างกันมาก แต่ก็เห็นแนวโน้มรถแบบเอทีเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะมาจากเมื่อผู้ใช้เริ่มรู้จักรถแบบเอที ทำให้รู้ว่ารถครอบครัวเกียร์ธรรมดาจะดูแลรักษาง่าย และประหยัดน้ำมันมากกว่า ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกอะไรที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ดังนั้นจึงเชื่อว่ารถแบบครอบครัวยังจะเป็นนิยมต่อไป"
       

       เมื่อกระแสรถจักรยานยนต์แบบเอทีลดความร้อนแรงลง ในสภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ชะลอตัวลง อันมาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วรถแบบไหน? ที่จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ฮอนด้าได้ปลุกกระแสรถจักรยานยนต์หัวฉีดขึ้นมา ถึงกับประกาศชัดเจนว่า ในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีรถจักรยานยนต์ฮอนด้าทุกรุ่นจะเปลี่ยนเป็นแบบหัวฉีดหมด และต้นเดือนมกราคมนี้ ฮอนด้าก็จะเปิดตัวรถจักรยานยนต์หัวฉีดใหม่เพิ่มอีกรุ่น ส่วนผลตอบรับเป็นอย่างไร?... ธีระพัฒน์ จิวะพงศ กรรมการบริหารส่วนงานขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า หากพิจารณาตลาดรถจักรยานยนต์ที่ลดลงในเดือนพฤศจิกายน ถือว่าเป็นไปตามทิศทางของตลาดโดยรวม ยกเว้นเพียงกลุ่มรถแบบครอบครัวเท่านั้น ที่มีอัตราการเติบโตทรงตัว



       "ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยหนุนให้รถประเภทครอบครัวมีอัตราการเติบโตทรงตัว เป็นผลมาจากแรงผลักดันของรถครอบครัวแบบเครื่องยนต์หัวฉีด อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ของรถจักรยานยนต์ที่กำลังได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างมากในตลาด เนื่องจากให้อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัจจุบันราคาอะไหล่ก็ลดลงมาก"
       
       จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีค่ายอื่นๆ เปิดตัวลงมาชิงส่วนแบ่งกับฮอนด้าแล้ว โดยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา ซูซูกิ ได้เปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ Skydrive 125 ซึ่งเป็นรถออโต้แบบหัวฉีดสู่ตลาด แสดงให้เห็นทิศทางของกระแสความนิยมของรถหัวฉีดได้เป็นอย่างดี
       
       "คาดว่าแนวโน้มของรถหัวฉีดจะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยมีมาตรฐานไอเสียเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ทำให้อนาคตรถจักรยานยนต์ถูกพัฒนาเป็นรถหัวฉีดมากขึ้น ประกอบกับทิศทางของผู้ใช้รถเริ่มมองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ตรงนี้จะทำให้รถหัวฉีดเข้ามาตอบสนองได้ ซึ่งทิศทางต่อไปของรถหัวฉีด คงจะคล้ายกับเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ที่เข้ามาแทนรถแบบ 2 จังหวะ"
       
       มาซาโนบุ ไซโต ประธานและซีอีโอ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์กล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะที่ว่าแน่ๆ อย่างรถแบบเอทียังมีอาการสะดุดให้เห็นมาแล้ว
       
       จยย.หน้าใหม่เกิดยากถูกกีดกัน
       

       เมื่อจับเทรนด์รถจักรยานยนต์ปีวัวไฟไปแล้ว ลองมามองคู่ต่อสู้ในตลาดรถจักรยานยนต์บ้าง โดยเฉพาะรายใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่สังเวียน นอกจากค่ายหลักๆ จากญี่ปุ่นแล้ว ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากที่บรรดาค่ายจักรยานยนต์หน้าใหม่ จะเข้ามาปักหลักได้อย่างมั่นคง นอกจากเป็นได้แค่ตัวประกอบ ดูได้จากค่ายรถจักรยานยนต์หน้าใหม่ ทั้งแบรนด์จีน และมาเลเซีย รวมถึงของไทยเอง ที่เข้ามาในช่วงตลาดสองล้อเฟืองฟูเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว



       แต่ถึง ณ วันนี้ แทบจะไปถึงไหน? ไม่ว่าจะเป็นไทเกอร์ เจอาร์ดี และแพลตทินัม มียอดขายต้วมเตี้ยมอยู่แค่เดือนละไม่กี่ร้อยคัน!! ฉะนั้นแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาจึงมีโอกาสเกิดยากมาก ซึ่งไม่เพียงทัศนคติของผู้บริโภคชาวไทย ที่นอกจากรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นแล้ว จะมองรถสัญชาติอื่นในเรื่องคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยกเว้นรถจากค่ายตะวันตก แต่นั่นก็เป็นรถราคาแพงจับตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่รถตลาดที่เป็นคู่แข่งของบริษัทญี่ปุ่นแน่นอน คอนเฟิร์ม! ค่ายรถจักรยานยนต์หน้าใหม่ โดยเฉพาะจากประเทศจีนหากเข้ามาทำตลาดในไทย ยังไงก็เป็นได้แค่ตัวประกอบตลาดรถจักรยานยนต์ไทย โอกาสที่จะก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าน้อยมาก
       
       ส่วนเหตุผลต้องฟังจากผู้คร่ำหวอดในธุรกิจรถจักรยานยนต์จีนมานาน และตั้งท่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นสิบปีแล้ว แต่ที่สุดก็ไม่สามารถเข้ามาปักธงตลาดรถจักรยานยนต์ไทยได้ นั่นคือ ซี.พี.กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย โดยในเรื่องนี้ ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ ในฐานะประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.
       
       "เรามีความคิดที่ทำตลาดรถจักรยานยนต์ในไทย เพราะซี.พี.มีแบรนด์จักรยานยนต์ชื่อต้าหยางขายในประเทศจีน และประสบความสำเร็จมากมียอดขายเป็นอันดับ 3 คาดมียอดผลิตปีนี้ 1.7 ล้านคัน ฉะนั้นเรื่องสินค้าจึงไม่มีปัญหา เพียงแต่ไทยแบรนด์ญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งมาก และใช้ไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต ประกอบกับรัฐบาลไทยสนับสนุน มีกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองในเรื่องการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ทำให้รายใหม่ที่จะเข้ามามีปัญหา ในการหาผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้ เนื่องจากที่ฝีมือดีๆ ล้วนเป็นพันธมิตรกับค่ายญี่ปุ่น จึงยากที่จะเข้าไปเจาะได้ นอกจากรัฐบาลจะยอมเปิดตัวกว้างเรื่องชิ้นส่วนภายในประเทศ ซี.พี.จึงจะเข้ามาทำตลาดและผลิตรถจักรยานยนต์ในไทย"
       

       ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยจึงนับว่าเป็นตลาดที่หิน การประเมินหรือคาดการณ์ต่างๆ จึงทำเพียงผิวเผินไม่ได้ เหมือนดังเช่น หลายครั้งที่คาดการณ์กันแล้ว สุดท้ายเป็นเพียงการฮันนีมูนอันแสนสั้นเท่านั้น!!


ที่มา : http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9510000153041