ข่าวในประเทศ - เปิดผลทดสอบล่าสุดของกรมธุรกิจพลังงาน เปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลือง และค่าใช้จ่ายต่อระยะทาง ของรถเอ็นจีวี และรถแอลพีจี รวมถึงรถยนต์ที่เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมระยะทางการทดสอบ 5,200 กิโลเมตร วิ่งทั้งในเมือง นอกเมือง และบนทางด่วน
โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา เพื่อเป็นอีกข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ใช้รถจะเลือกใช้พลังงานแบบไหน?
"ผู้จัดการมอเตอริ่ง" ได้รายงานข้อมูลของรถเอ็นจีวี ( NGV) และระยะเวลาการคืนทุนจากการติดตั้งเอ็นจีวี ซึ่งคำนวณโดยกรมธุรกิจพลังงาน (ข้อมูล ณ 1 ธันวาคม 2548) ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ( http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9490000062138 )
ล่าสุดกรมธุรกิจพลังงานได้เปิดเผยผลการทดสอบเปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลือง ทั้งระยะทางและคิดออกมาเป็นค่าใช้จ่ายต่อระยะทาง ระหว่างเอ็นจีวี(NGV) แอลพีจี(LPG)หรือก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงระยะเวลาจุดคุ้มทุนจากการติดตั้งเอ็นจีวี
|
ก่อนที่จะไปทราบผลเปรียบเทียบ เราไปทำความเข้าใจข้อแตกต่างของพลังงานทั้ง 3 ชนิดก่อน โดยเฉพาะเอ็นจีวี และแอลพีจี ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้แสดงถึงความแตกต่างไว้ดังนี้.......
รถเอ็นจีวี (NGV: Natural Gas Vehicles) หมายถึงรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas : CNG) เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ส่วนรถที่ติดตั้งแอลพีจี (LPG : Liquefied Petroleum Gas) เป็นรถที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน
โดยคุณสมบัติของแอลพีจีจะหนักกว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดการรั่วไหลจะลอยอยู่บริเวณพื้น และหากมีพื้นที่ก็จะเกิดการสะสมได้ แตกต่างจากก๊าซซีเอ็นจีที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ เมื่อรั่วไหลจะลอยขึ้นสู่อากาศอย่างรวดเร็วจึงไม่เกิดการสะสม
ก๊าซซีเอ็นจีมีคุณสมบัติอีกประการ คือ ติดไฟยาก โดยจะติดไฟได้ก็ต่อเมื่อมีการลุกไหม้ที่อุณหภูมิสูงถึง 540 องศาเซลเซียส ดังนั้นก๊าซซีเอ็นจีจึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถสูงกว่าแอลพีจี และเชื้อเพลิงอื่นอีกหลายประเภท
ค่าออกเทนสำหรับก๊าซเอ็นจีวีจะอยู่ที่ 120 RON และก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 105 RON จึงสามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงได้
โดยค่า RON (Research Octane Number) เป็นค่าออกเทนที่มีประสิทธิภาพต่อต้านการน็อคในเครื่องยนต์หลายสูบ ที่ทำงานอยู่ในรอบของช่วงหมุนต่ำ ส่วนค่าออกเทน MON (Motor Octane Number) มีประสิทธิภาพต่อการการน็อคในขณะที่ทำงานที่รอบสูง ซึ่งซีเอ็นจีมีค่า MON120 และแอลพีจีมีค่า MON97
ก๊าซแอลพีจียังมีกลิ่นที่รุนแรงมากกว่าซีเอ็นจี จะเห็นได้จากรถแท็กซี่ที่ติดตั้งแอลพีจี ผู้โดยสารจะรู้สึกถึงกลิ่นชัดเจน เหมือนกับแอลพีจีจากถังก๊าซหุงต้มในห้องครัว ซึ่งตามข้อเท็จจริงธรรมชาติของแอลพีจีไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกับซีเอ็นจี แต่เนื่องจากอันตรายจากคุณสมบัติลอยตัวต่ำของแอลพีจี ถ้าเกิดการรั่วแล้วจะสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการเติมกลิ่น เพื่อจะได้ทราบเวลาแอลพีจีเกิดรั่ว และสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนราคาของซีเอ็นจีอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท และแอลพีจีมีราคา 9.40 บาทต่อลิตร แต่เมื่อนำมาเทียบ หน่วยเป็นลิตรบนพื้นฐานของค่าความร้อนเดียวกัน จะเห็นว่าซีเอ็นจีจะมีราคาที่ถูกกว่าแอลพีจีอยู่มาก คือ ซีเอ็นจีจะมีราคาอยู่ที่ 6.29 บาทต่อลิตร ขณะที่แอลพีจีมีราคา 9.40 บาทต่อลิตร หรือเมื่อเทียบเป็นกิโลกรัม แอลพีจีจะมีราคาอยู่ที่ 16.81 บาทต่อกิโลกรัม
การติดตั้งรถเอ็นจีวีจะแบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบฉีดก๊าซ (Multipoint Injection) และระบบดูดก๊าซ (Fummigation) ที่แบ่งย่อยออกมาเป็นระบบวงจรเปิด (Open Loop) และวงจรปิด (Close Loop)
โดยระบบฉีดก๊าซหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ระบบหัวฉีด นั้นเหมาะกับรถที่เป็นเครื่องยนต์หัวฉีดทุกชนิด ซึ่งจะจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซด้วยหัวฉีดที่ท่อไอดีแต่ละสูบโดยเฉพาะ และมี ECU ควบคุมการปล่อยก๊าซ เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณอากาศ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ราคาค่าติดตั้งรวมถังและอุปกรณ์อยู่ที่ 58,000-65,000บาท
ส่วนระบบดูดก๊าซนั้น เหมาะสมกับรถที่เป็นเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ และระบบหัวฉีด ที่มีการควบคุมการจ่ายน้ำมันแบบธรรมดา (ส่วนใหญ่เป็นรถที่ผลิตก่อนปี 2543) ข้อดีระบบนี้ติดตั้งบำรุงรักษาง่าย คุ้มทุนเร็ว และราคาถูกกว่าแบบหัวฉีด โดยมีราคาติดตั้งอยู่ที่ 38,000-55,000 บาท (รวมถังและอุปกรณ์เอ็นจีวี)
ทั้งนี้อุปกรณ์ที่ติดตั้งรถเอ็นจีวี และแอลพีจี จะมีระบบที่คล้ายคลึงกันแต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจาก ซีเอ็นจีเป็นก๊าซที่มีแรงดันสูงกว่าแอลพีจี ดังนั้นจึงเป็นที่มาของข้อเสียของรถเอ็นจีวี ที่มีราคาอุปกรณ์ในการติดตั้งสูงกว่ารถใช้ก๊าซแอลพีจี เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่ดีกว่าทนแรงดันได้สูงกว่านั้นเอง
|
จากคุณสมบัติดังกล่าวของเอ็นจีวี ทำให้ถังบรรจุรวมน้ำหนักก๊าซ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 60-80 กิโลกัม หรือเท่ากับคนหนึ่งคน โดยจะต้องเสียพื้นที่บรรจุสัมภาระด้านหลังรถเพื่อการติดตั้งถัง ขณะที่เครื่องยนต์และอัตราเร่งอาจด้อยกว่า เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซินเพียงอย่างเดียว
สำหรับน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" เป็นการนำเอทานอล หรือแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ที่สกัดจากพืชต่างๆ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย กากน้ำตาล ข้าวโพด มาผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วน 10 : 90 ซึ่งจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินทั่วไป
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีอัตราส่วนผสมเอทานอล 10% เรียกว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 หรือหากส่วนผสมเอทานอลสูงกี่เปอร์เซ็นต์ ก็เรียกตามสัดส่วนนั้นๆ โดยปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทน 95 แทบจะมีทุกปั๊มแล้ว ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ออกเทน 91 มีเพียงของ "บางจาก"เท่านั้นที่จำหน่าย และสถานีบริการจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเริ่มต้นนี้
สัดส่วนของเอทานอลที่นำมาผสมในน้ำมันเบนซิน 5-10% ถ้าเป็นรถยนต์ที่ใช้ระบบหัวฉีด ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง หรือดัดแปลงเครื่องยนต์ใดๆ ขณะที่ถ้าเป็นรถยนต์รุ่นเก่า ซึ่งยังใช้ระบบคาร์บูเรเตอร์ ไม่ได้รับการแนะนำให้ใช้แก๊สโซฮอล์
และถ้าหากต้องการใช้จะต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์ เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ส่วนในด้านของปัญหาเครื่องยนต์ ถ้าจะมีการเติมแก๊สโซฮอล์ สลับไปมากับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทั่วไปนั้น สามารถทำได้และไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยไม่ต้องรอจนน้ำมันหมดถัง
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จะมีถูกกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไป แต่เนื่องจากส่วนผสมของเอทานอลมีเพียงเล็กน้อยแค่ 10% จึงทำให้ราคายังแพงอยู่มาก เมื่อเทียบกับก๊าซซีเอ็นจีและแอลพีจี โดยน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 หากเทียบกับราคาของเบนซิน 95 จะถูกกว่า 1.50 บาท และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่าเบนซิน 91 อยู่ที่ 50 สตางก์
จากการที่แก๊สโซฮอล์เป็นพลังงานทดแทนชนิดหนึ่ง กรมธุรกิจพลังงานจึงได้นำมาทดสอบเปรียบเทียบกับรถเอ็นจีวี และแอลพีจีด้วย โดยในการทดสอบกรมธุรกิจพลังงานได้ใช้รถทดสอบทั้งหมด 7 คัน แบ่งเป็นรถติดตั้งเอ็นจีวีระบบระบบฉีดก๊าซ 1 คัน ระบบดูดก๊าซ 2 คัน (แบบวงจรเปิดและปิดอย่างละ 1 คัน)
รถติดตั้งแอลพีจีแบบดูดก๊าซ 2 คัน (แบบวงจรเปิดและปิดอยางละ 1 คัน) รถแอลพีจีแบบหัวฉีด 1 คัน และรถที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 1 คัน ซึ่งได้ทดสอบการวิ่งใช้งานรถ ทั้งในเมือง นอกเมือง และบนทางด่วน รวมระยะทาง 5,200 กม.
|
ในการทดสอบครั้งนี้กรมธุรกิจพลังงาน ได้เชิญนักวิชาการ ผู้แทนจากสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ สถาบันยานยนต์ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คุณธเนศร์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และคุณพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ร่วมเป็นที่ปรึกษา
ผลการทดสอบปรากฏว่า จากการวิ่งทดสอบในเมือง นอกเมือง และทางด่วน รถเอ็นจีวีจะมีอัตราสิ้นเปลืองน้อยที่สุด (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) โดยมีค่าเฉลี่ยของทั้งหมด รถเอ็นจีวีมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.26 กม./กก. รถแอลพีจีเฉลี่ยอยู่ที่ 11.10 กม./ลิตร และรถแก๊สโซฮอล์เฉลี่ย 13.08 กม./ลิตร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารถเอ็นจีวีสามารถวิ่งได้ระยะทาง ที่มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ (1 กก.ของก๊าซมีค่าเท่ากับ 1.12 ลิตรน้ำมัน บนค่าพื้นฐานความร้อนเดียวกัน) โดยเฉพาะแอลพีจี แต่ตัวเลขไม่แตกต่างจากรถที่เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากนัก
อย่างไรก็ตามด้วยราคาของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่สูงเป็นกว่า 2 เท่าตัวของก๊าซซีเอ็นจี ทำให้เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนเงินบาทต่อระยะทาง รถเอ็นจีวีมีค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรต่ำกว่ามาก แต่ก็ใกล้เคียงกับแอลพีจี (แต่ต้นทุนในการติดตั้งอุปกรณ์แอลพีจีต่ำกว่ามาก)
โดยค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายต่อระยะทาง รถเอ็นจีวีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 0.59 บาท/กม. รถแอลพีจีเฉลี่ย 0.91 บาท/กม. และรถแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.32 บาท/กม. หากวัดตามตัวเลขนี้รถเอ็นจีวีประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากกว่าแน่นอน
เหตุนี้ระยะเวลาคืนทุนในการติดตั้งเอ็นจีวี ด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่ดีกว่าแอลพีจี และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า แต่ระยะเวลาคืนทุนในการติดตั้งเอ็นจีวี จะเร็วหรือช้ายังมีปัจจัยที่ต้องนำมาคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของอุปกรณ์เอ็นจีวีที่ติดตั้ง หากเป็นแบบระบบฉีดก๊าซที่มีราคาสูงก็ย่อมจะช้ากว่า ระบบดูดก๊าซที่ราคาต่ำกว่า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพฤติกรรมการใช้รถในแต่ละวัน หากวิ่งเป็นระยะทางต่อวันมากเท่าไหร่ก็จะถึงจุดคุ้มทุนเร็วเท่านั้น(ดูตารางที่ 3-4 ประกอบ) ปัญหาก็อยู่ที่ว่าสถานีบริการเติมก๊าซเอ็นจีวีในปัจจุบันเกือบทั้งหมดอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่ครอบคลุมถนนสายหลักๆ แต่อย่างใด ซึ่งต้องนำมาคิดให้รอบคอบ
ขณะที่แอลพีจีแม้จะมีค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรสูงกว่ารถเอ็นจีวี แต่ด้วยราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้งที่ต่ำกว่ารถเอ็นจีวีมาก จึงทำให้ถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ใช้รถเช่นกัน เพียงแต่อาจจะต้องระแวงในเรื่องความปลอดภัย และข้อหาไปเบียดบังจากกลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงตุ้ม เพราะราคาก๊าซจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 14-15 บาท แต่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาก๊าซแอลพีจี ก็เพื่อกลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นหลัก
ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ แน่นอนเหมาะสมที่สุดอันดับแรกน่าจะเป็นรถใหม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทรถยนต์ต่างก็ออกมารับรองกันเกือบหมดแล้ว.......
เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเลือกพลังงานใด ทั้งหมดย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้รถเอง บางครั้งความประหยัดอย่างเดียวก็ไม่พอ ยังต้องนึกถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย!!
|
ตารางเปรียบเทียบอัตรสิ้นเปลือง(ระยะทาง) NGV-LPG-แก็สโซฮอล์
|
เส้นทางทดสอบ |
NGV(กม./กก.) |
LPG(กม./ลิตร) |
แก็สโซฮอล์(กม./ลิตร) |
ในเมือง |
10.69 |
7.41 |
8.50 |
นอกเมือง |
17.74 |
13.38 |
17.04 |
ทางด่วน |
17.35 |
12.49 |
13.71 |
ค่าเฉลี่ย |
15.26 |
11.10 |
13.08 |
|
หมายเหตุ : กรมธุรกิจพลังงาน จัดการทดสอบรถยนต์จำนวน 7 คัน ซึ่งได้ทดสอบการวิ่งใช้งานทั้งในเมือง นอกเมืองและบนทางด่วน ระยะทางรวม 5,200 กม.
|
ตารางเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อระยะทาง NGV-LPG-แก็สโซฮอล์
|
เส้นทางทดสอบ |
ระยะทางวิ่งทดสอบ(กม.) |
NGV(บาท/กก.) |
LPG(บาท/ลิตร) |
แก็สโซฮอล์(บาท/ลิตร) |
ในเมือง |
1,025 |
0.81 |
1.28 |
3.29 |
นอกเมือง |
2,360 |
0.48 |
0.70 |
1.64 |
ทางด่วน |
1,816 |
0.49 |
0.75 |
2.03 |
ค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ย |
|
0.59 |
0.91 |
2.32 |
|
หมายเหตุ : ใช้พื้นฐานราคา NGV 8.50 บาท/กก. LPG 9.35 บาท/ลิตร แก็สโซฮอล์ 27.89 บาท/ลิตร |