PETRONAS ASIA ROAD RACING CHAMPIONSHIP 2010 สนามที่ 2 | yamaha,racing
ทีมไทยยามาฮ่า โชว์ผลงานโบว์แดงอีกครั้ง คว้าดับเบิ้ลโพเดี้ยมในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย PETRONAS ASIA ROAD RACING CHAMPIONSHIP 2010 สนามที่ 2 ทำการแข่งขันกันที่สนาม AUTOPOLIS International Racing Course ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญยังตกอยู่กับรุ่นซูเปอร์สปอร์ต 600 ซึ่ง เฉลิมพล ผลไม้ บิดยามาฮ่า YZF-R6 คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ เกาะติดมาด้วยเดชา ไกรศาตร์ เหมาอันดับ 1 และ 2 บนโพเดี้ยม ส่วนในรุ่นเล็ก อันเดอร์โบน 115 ซีซี. ชานนท์ ชุ่มใจ คร่อมยามาฮ่า สปาร์ค 110 คว้าอันดับ 3 มาครองจากรถแข่งทั้งหมด 22 คัน
บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ยังคงร่วมสนับสนุนนักแข่งไทยก้าวไกลสู่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่ร่วมแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย รายการ PETRONAS ASIA ROAD RACING CHAMPIONSHIP 2010 ซึ่งทำการแข่งขันทั้งหมด 6 สนามใน 6 ประเทศ โดยสนามแรกที่เซปังเซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย ทีมไทยยามาฮ่า เรซซิ่งทีมก็ประกาศศักยภาพความเป็นไทยด้วย นักแข่งไทย ทีมแมคคานิกส์ไทย คว้าแชมป์มาครองในเรซแรกในช่วงกลางเดือนเมษายน และการแข่งขันในสนามที่ 2 จัดขึ้น ณ สนามออโตโปลิส เมืองคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
PETRONAS ASIA ROAD RACING CHAMPIONSHIP 2010 ในสนามที่ 2 นี้ จะทำการแข่งขันร่วมกับการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ญี่ปุ่น หรือ All Japan Road Race Champioship 2010 สนามที่ 2 ด้วยซึ่งทีมไทยยามาฮ่าก็ส่ง 2 นักแข่งไทย เฉลิมพล ผลไม้ และเดชา ไกรศาสตร์ เข้าร่วมการแข่งขันด้วยเช่นกัน โดยทั้งคู่จะใช้เบอร์รถแตกต่างจากที่ใช้ในชิงแชมป์เอเชียแต่ยังคงขับขี่รถยา มาฮ่า YZF-R6 เช่นเคย แต่สเปกรถจะเป็นสเปกใช้แข่งออลเจแปนที่ปรับแต่งได้มากกว่าชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งเฉลิมพลจะใช้เบอร์ 29 ส่วนเดชาใช้เบอร์ 25 ในชื่อทีมว่า Petronas Yamaha Thailand MHP
เกมชิงแชมป์เอเชียเริ่มขึ้นหลังออกเดินทางตั้งแต่วันอังคารเพื่อเข้าสนามวัน พุธเพื่อไปตั้งพิท ตรวจเช็ครถ และสภาพสนาม ซึ่งเป็นโปรแกรมปกติของการแข่งขันในแต่ละสนาม นักแข่งจะนำรถเข้าสนามได้ก็ต้องรอจนถึงวันพฤหัส และเนื่องจากแข่งขันรวมกับรายการออลเจแปน ทำให้โปรแกรมมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จากเดิมจะแบ่งการซ้อมออกเป็นฮีทละ 45 นาที 2 ฮีทต่อรุ่น มาเป็นซ้อม 3 ครั้ง 30-30 และ 20 นาทีต่อรุ่น ปรากฏว่าฝนตกลงมาตั้งแต่เช้า ทำให้ทีมแข่งต้องเซ็ทรถใหม่ ซึ่งในกติการุ่นอันเดอร์โบน 115 ซีซี. เปิดให้ใช้ยางได้อิสระ ทีมมาเลเซียและอินโดนีเซียที่แข่งมาก่อนเราก็งัดยางฝนออกมาเปลี่ยนกันทุกคัน ผิดกับทีมไทยที่ไม่ได้เตรียมยางฝนมา จำเป็นต้องใช้ยางขี่แทร็คแห้ง ถึงเสียเปรียบ แต่ก็แก้ไขไม่ทันการณ์ เนื่องจากมาเลเซีย กับอินโดนีเซีย มีฝนตกบ่อยมาก การแข่งขันในบ้านจึงชินกับการขี่กลางฝน รวมทั้งยางที่มีการพัฒนาจนมียางฝนสำหรับใช้แข่งเอง ผิดกับบ้านเราที่ปีนึงจะได้ขี่ฝน 1-2 ครั้ง จึงไม่มียางฝนใช้กัน
อันเดอร์โบน 115 ซีซี. ซ้อมฮีทแรกจึงไม่ได้เน้นอะไรมากนักนอกเสียจากรันอินเครื่องยนต์ กับสร้างความคุ้นเคยกับสนาม สำหรับประวัติ ญาณวุฒิ(95) ที่เคยมีประสบการณ์ในปีที่แล้วยังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่กับชานนท์ ชุ่มใจ(53)น้องใหม่ปีนี้ต้องพยายามปรับตัวให้เร็ว ในส่วนของซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี. เนื่องจากกติกา บังคับให้ใช้ยางจากทางผู้จัดเท่านั้น ซึ่งมีให้เลือกแบบเดียวลายเดียว ทุกคนจึงไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ลงไปซ้อมสร้างความคุ้นเคย และไม่ให้พลาดล้มเท่านั้น
ซ้อมฮีทสอง ฝนหยุด อากาศครึ้ม แทร็กยังเปียกอยู่หลายจุด และมีโอกาสต้องแข่งขันในแทร็กเปียกค่อนข้างสูงมาก แต๋วช่อง 3 ซึ่งดูแลในส่วนของอันเดอร์โบน 115 ซีซี. เริ่มไล่เซ็ทรถหาข้อมูล ปรับจูนนมหนูใหม่ ทำให้ทั้งสองคนทำเวลาได้ดีขึ้น โดยเฉพาะชานนท์(53) ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 5 จากรถแข่งทั้งหมด 22 คัน พอฮีทสามฝนตกลงมาอีก เวลาจึงสู้ฮีทสองไม่ได้ ผู้นำตกเป็นของ ฮาดี้ วิจาย่า ทำเวลา 1 นาที 37.980 วินาที รุ่นซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี. ซ้อมฮีท 3 แทร็คแห้งกว่าฮีทสอง หั่งโมดิฟายผู้ดูแลฝั่งนี้ปรึกษากับนักแข่งก่อนปรับแม็พเอ็นจิ้นใหม่ ลองไล่ทดสเตอร์ ปรับโช้คอัพเพื่อให้นักแข่งขี่ง่ายขึ้น เฉลิมพล(1) เน้นมากขึ้น ทำให้ทั้งคู่เกาะอยู่ในกลุ่มหัวแถวได้ตลอดจนจบการซ้อม ซึ่งผู้ทำเวลาเร็วสุดเป็นของ อัสลัน ชาห์ คามารูซ่าแมน ด้วยเวลา 2 นาที 04.049 วินาที ในฮีทที่ 3
ควอลิฟายฮีทแรกในวันศุกร์ตอน 11 โมง อากาศสดใส ฟ้าโปร่งแดดออก น้องเล็กอันเดอร์โบน 115 ซีซี. ลงสนามก่อน มีเวลาให้ 30 นาทีก็กดกันเต็มเหนี่ยวเพราะกลัวว่าฝนจะตกลงมาอีกโดยประวัติ ญาณวุฒิ(95) กดยามาฮ่า สปาร์คคันเก่งทำเวลาต่อเนื่องก่อนได้เบสแล็ปที่ 1 นาที 34.793 วินาที ทะยานขึ้นอันดับ 1 อยู่พักใหญ่ก่อนจะค่อยๆ หล่นลงมาและจบครั้งแรกด้วยอันดับ 6 ส่วนชานนท์(53)รถมีปัญหาเรื่องจังหวะต่อเกียร์ อันดับตกไปอยู่ที่ 11 ด้วยเวลา 1 นาที 35.855 วินาที ตามหลังผู้นำ ฮาดี้ วิจาย่า(12)เพียง 1.6 วินาทีเท่านั้น
ซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี. ควอลิฟายมันส์ไม่แพ้กัน จากรถเข้าแข่งขั้นทั้งหมด 21 คัน มีนักแข่งญี่ปุ่นสมัครเข้าแข่งขันเพิ่มอีก 2 คน คือ นาโอกิ ชิมิสึ(89) กับเคอิตะ อิวาทานิ(69) ผลออกมาอันดับ 1 ตกเป็นของ เดชา ไกรศาสตร์(24) ทำเวลา 1 นาที 59.804 วินาที ทิ้งห่างอันดับ 2 เฉลิมพล ผลไม้(1) ผู้ทำเวลา 2 นาที 00.454 วินาทีเกือบครึ่งวินาที อันดับสามเป็นของนักบิดที่เวลาเร็วที่สุดเมื่อวาน อัสลัน(25) และอันดับ 4 นักบิดเจ้าถิ่น โทชิยูกิ ฮามากูชิ(64) ปิดท้ายอันดับ 5 ด้วย เกลน อเลอตัน(14)นักบิดดีกรีแชมป์ออสเตรเลีย เวลา 2 นาที 01.080 วินาที
บ่าย 3 โมงครึ่ง ควอลิฟายฮีทที่ 2 รุ่นอันเดอร์โบน 115 ซีซี. อากาศเริ่มครึ้มอีกครั้ง แถมความชื้นค่อยๆเขยิบขึ้นสูง ทำให้รถของประวัติ(95)วิ่งไม่ดีเท่าที่ควร แต่หลังจากกลับเข้ามาเซ็ทนมหนูใหม่ ก็ทำเวลาได้ดีขึ้นก่อนกดเวลาดีสุดที่ 1 นาที 34.140 วินาที ส่วนชานนท์(53)รถวิ่งดีขึ้นเช่นกัน 1 นาที 34.922 วินาที ลงมาเกือบวินาที แต่คู่แข่งก็เร็วขึ้นเช่นกัน ผู้นำตกเป็นของ Fitriansyah Kete(93) ทำเวลา 1 นาที 33.048 วินาที อันดับของทั้งสองจึงร่วงลงมาอยู่ที่ 8 และ 16 ตามลำดับ
จับเวลาครั้งสุดท้ายของซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี. ทีมไทยยามาฮ่ามีการเซ็ทรถใหม่ โดยเดชา(24) ปรับเปลี่ยนแม็พเอ็นจิ้นใหม่ แล้วทดสเตอร์หลังลง 1 ฟัน ส่วนของเฉลิมพล(1) ก็ลองปรับแม็พเอ็นจิ้นใหม่ และทดสเตอร์ลงครึ่งฟัน แต่พอลงสนาม รถของเฉลิมพล(1)มีอาการท้ายสไลด์ค่อนข้างมากแต่ก็ยังทำเวลาได้ดีขึ้นกว่า ครั้งแรกที่ 2 นาที 00.372 วินาที แต่เสียอันดับลงหนึ่งกลายเป็นอันดับ 3 เพราะโดนเกลน(14)ที่เปิดเกมบู๊แลกหมัด เฉือนเพียงเสี้ยววินาทีที่ 2 นาที 00.290 วินาที กินกันไม่ถึงครึ่งล้อหน้า อย่างไรก็ดี เร็วที่สุดอันดับ 1 และคว้าตำแหน่งโพลโพสิชั่นไปก็คือ เดชา ไกรศาสตร์(24) กดยามาฮ่า YZF-R6 ไป 1 นาที 59.295 วินาที เร็วกว่าเดิมอีกกว่าครึ่งวินาที
วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาหลังซ้อมเช้า 8 โมง ก็ได้เวลาแข่งขันจริงเสียที กับสนามที่ความยาวต่อรอบ 3.022 กิโลเมตร ลมวันนี้พัดค่อนข้างแรงมากตั้งแต่ช่วงสายๆ รุ่นอันเดอร์โบน 115 ซีซี. แข่งขันทั้งหมด 9 รอบสนาม ออกสตาร์ทมา รถแข่งทั้ง 21 คันก็ทะยานออกจากจุดสตาร์ท ก่อนเกาะกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มเดียวแบบเหนียวแน่น 2 นักบิดไทยยามาฮ่ารักษาอันดับอยู่กลางกลุ่ม ก่อนประวัติ(95)จะบิดสปาร์ค 110 ขึ้นนำเป็นจ่าฝูงได้สำเร็จในรอบที่ 6
ประวัติ(95)ขึ้นนำได้เพียง 2 รอบก็เริ่มเสียอันดับ เพราะหนีกลุ่มนำเดี่ยวไม่ออก เพราะขึ้นสเตอร์หลังไป 1 ฟันหวังวิ่งต้านลมได้ดี แต่ก็เป็นจุดเสียช่วงสุดทางตรงที่รถหยุดก่อนถึงโค้ง เปิดโอกาสให้คู่แข่งที่ดูดหลังมาไล่แซงคืนได้ง่ายๆ แต่ก็ยังพัวพัน 1-6 ในอันดับแรก สำหรับชานนท์(53) ด้วยสภาพแทร็กที่ค่อนข้างกว้าง การวิ่งผ่านแต่ละโค้งก็จะมีคู่แข่งดูดขึ้นมาเรียงหน้ากระดานทีละ 3-4 วัน อันดับจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท้ายกลุ่มบ้าง กลางกลุ่มบ้าง
จนถึงปลายรอบที่ 7 ชานนท์(53)รั้งอันดับ 10 ก็ค่อยๆ ได้จังหวะแซงอย่างต่อเนื่องจนมาเกาะกลุ่มหน้าได้ในรอบสุดท้าย ซึ่งอันดับมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพราะรถเล็ก แทร็คกว้าง แซงกันง่าย พอโดนเสียบถ้าดูดท้ายติด แป๊ปเดียวก็เสียบแซงกันได้แล้ว แต่ละโค้งผ่านไปด้วยความตื่นเต้น จนถึงโค้งสุดท้าย วิ่งดาหน้าเข้าโค้งกัน 4 คันรวด ชานนท์(53)ไหลเสียบในตามน้ำฮาดี้(12)ออกโค้งมาเป็นอันดับ 2 แต่เส้นชัยอยู่เกือบสุดทางตรง เลยโดนนอริสแมน อิสเมล(19)แซงขึ้นหน้า ทำให้ชานนท์(53)ผ่านเส้นชัยด้วยอันดับ 3 ขึ้นยืนโพเดี้ยมรับรางวัลได้สำเร็จกับการแข่งขันในปีแรก สนามที่ 2 ส่วนประวัติ(95)ถึงรถจะเป็นรอง แต่ก็คว้าอันดับที่ 5 มาครอง ยอดเยี่ยมทีเดียว
ซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี. ทำการแข่งขัน 12 รอบสนาม 56.088 กิโลเมตร เกมออกสตาร์ทมา เดชา(24) ขึ้นนำเป็นจ่าฝูง เกาะติดด้วยเฉลิมพล(1), เกลน(14) และฮามากูชิ(64) โดยมีโดนี่ ทาทา พาดิต้า(21)อดีตนักแข่งเวิร์ดล์กรังด์ปรีย์ตามมาห่างๆ เกมผ่านไปได้เพียงรอบเดียว เกลน(16)ก็แซงเฉลิมพล(1)ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 แทน ซึ่งเฉลิมพล(1)ก็ยังไม่เปิดเกมแลก ไล่ตามหลังดูจังหวะนักบิดดีกรีแชมป์ออสเตรเลียอยู่ 2 รอบก่อนแซงคืนขึ้นไปตามเดชา(24) รอบ 4-5-6 สองนักบิดไทยยามาฮ่าค่อยๆ ยืดออกไป ปล่อยให้เกลน(16)โดนฮามากูชิ(64)ไล่กดดัน และตั้งแต่รอบ 7 เฉลิมพล(1)ไล่กดดันเดชา(24)อยู่ตลอดเวลา วันนี้รถของเฉลิมพลดีมากหลังช่วงเช้าปรับแม็พเอ็นจิ้น, สเตอร์ และเปลี่ยนโช้คอัพหลังไป ไม่มีอาการท้ายสไลด์ออกมาให้เห็นอีก ผิดกับเดชา(24)ที่ยังลดสเตอร์หลัง 1 ฟัน ทำให้ช่วงทางตรงโดนลมโต้จนท็อปสปีดหายไปพอสมควร กลายเป็นโอกาสให้เฉลิมพล(1)แซงขึ้นเป็นผู้นำได้สำเร็จในรอบ 8 และกดแล็ปเร็คคอร์ดไปด้วยเวลา 1 นาที 59.059 วินาที คว้าแชมป์สนามที่ 2 ในเรซแรก ส่วนเดชา(24)ทิ้งเกลน(16)คว้าอันดับ 2 ได้เช่นกัน
การแข่งขันในเรซที่ 2 จะแข่งพร้อมกับออลเจแปนในวันอาทิตย์ แต่ปรากฏว่าพายุเข้า ฝนตกลงมาอย่างหนัก และมีลมมรสุมจนทางการญี่ปุ่นต้องประกาศยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทุกอย่าง และให้ทุกคนกลับเข้าที่พักอย่างเร่งด่วน ทำให้ต้องยกเลิกการแข่งขันไปอย่างเสียดาย เพราะทั้งเฉลิมพล และเดชา สามารถควอลิฟายอยู่ในอันดับ 14 และ 17 อยู่ท่ามกลางทีมชั้นนำของญี่ปุ่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น SP Tadao Racing, Moriwaki Kurabu, DOG FIGHT RACING, RS-ITOH & ASIA, Tech 3 ENG Taniguchi Falcons ฯลฯ แต่เวลาเมื่อเทียบกับผู้นำแล้วมีลุ้นติด 1 ใน 5 เลยทีเดียว ทั้งๆที่รถเป็นรองอยู่พอสมควร อย่างไรก็ดี ทีมไทยยามาฮ่า ได้ประกาศฝีมือนักแข่ง และช่างไทยให้รับรู้ว่าถึงจะเป็นทีมน้องใหม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นรองแต่อย่างใด
อนึ่ง ด้วยเหตุสถานการณ์บ้านเมืองของเราในช่วง17-23พ.ค.ยังอยู่ในสภาวะวิกฤต อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้นักข่าวนิตยสารจักรยานยนต์เวิร์ลด์ที่เตรียมตัวเดินทางไปทำข่าวบันทึก ภาพการแข่งขัน ไม่สามารถไปรับวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ แต่เราก็ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพส่วนหนึ่งของการแข่งขันในสนามออโตโปลิ สประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณมิสเตอร์ วากิตะ ช่างภาพประจำการแข่งขันรายการของเอ็มเอฟเจ และทำงานอยู่ในนิตยสารเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ฉบับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น และรวมถึงมิสเตอร์อิเดะโอะ วาดะเจ้าของทีมวาดะทากุเรซซิ่ง ที่ช่วยประสานงานติดต่อจนทำให้เราได้ภาพการแข่งขันมาฝากท่านผู้อ่าน
PETRONAS ASIA ROAD RACING CHAMPIONSHIP 2010 การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย สนามที่ 3 จะทำการแข่งขันกันที่สนามเซนตูล เซอร์กิต ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24-27 มิถุนายน 2553 นี้ แฟนความเร็วชาวไทย อย่าลืมช่วยกันส่งแรงใจเชียร์ 4 นักแข่งไทยคว้าแชมป์เอเชีย 2010 มาครองให้ได้นะครับ
17 มิ.ย. 2553
16 มิ.ย. 2553