เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี |
เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี : ว่าด้วยหลักสูตรที่ตอบคำถาม ตอนเด็กต้องทำอย่างไร เมื่อโตขึ้นฝันอยากเป็นนักบิดโมโตจีพี
ปี 2018 นับเป็นปีทองแห่งวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญสองอย่างที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์กีฬาความเร็วในบ้านเรา
หนึ่ง คือ เกมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบระดับโลก “โมโตจีพี” เตรียมประเดิมเปิดฉากจัดการแข่งขันครั้งแรกบนดินแดนสยามประเทศ ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม นี้
ส่วนเรื่องที่สองเป็นสิ่งที่ฟังแล้วน่ายินดีแทนน้องๆ นักบิดรุ่นเยาว์อย่างที่สุด หลังค่ายสองล้อเบอร์หนึ่งในไทย “เอ.พี.ฮอนด้า” ประกาศนโยบายมอเตอร์สปอร์ตประจำปี 2018 พร้อมผลักดันและสร้างสรรค์โอกาสให้เด็กไทยได้มีส่วนร่วมในรายการแข่งขันดังกล่าว ผ่านรูปแบบโร้ดแม็พอันชัดเจนจากการริเริ่มโครงการ “เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี” หรือโปรเจกต์บิดล่าฝันปั้นเยาวชนไทยสู่เส้นทางการเป็นนักแข่งระดับโลก
“เรากำลังพูดถึงการเฟ้นหาและการพัฒนานักแข่งไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันระดับสูงสุดของโลก ซึ่งในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก ‘โมโตจีพี’ นักบิดจะมีอายุเฉลี่ยเพียง26 ปี เท่านั้น” บอสใหญ่ค่ายปีกนก โยอิจิ มิซึทานิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวและว่า
“ตอนนี้ ‘มาร์ก มาร์เกวซ’ แชมป์โลกจากฮอนด้า เพิ่งจะอายุเพียง 24 ปี ขณะที่นักบิดที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าแข่งขันในโมโตจีพี คือ 21 ปี เมื่อดูจากอายุเฉลี่ยแล้วจะเห็นได้ว่าจุดสูงสุดของอาชีพนักแข่งรถมืออาชีพนั้นอายุไม่ได้สูงเลย ซึ่งจากปณิธานอันแรงกล้าของ เอ.พี.ฮอนด้า ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจต้องการให้เกิดนักแข่งโมโตจีพีชาวไทยให้ได้ภายในปี 2025 เหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการเริ่มก้าวแรกที่สำคัญสู่เป้าหมายความฝันที่วางไว้”
สำหรับรายละเอียดของโปรเจกต์ เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี มีวัตถุประสงค์ในการเฟ้นหาดาวรุ่งดวงใหม่ อายุระหว่าง 9-14 ปี เข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาเป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์มืออาชีพ เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยที่ใช้รถสูตร ฮอนด้า เอ็นเอสเอฟ100 (Honda NSF100) นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคัน ซึ่งได้รับการผลิตและพัฒนาขึ้นมาเพื่อขับขี่ในสนามแข่งขันโดยเฉพาะเป็นรถสำหรับฝึกสอน
โดยในรอบคัดเลือกมีเด็กน้อยที่มีความฝันว่า โตขึ้นอยากเป็นนักบิดระดับโลกมาเข้าร่วมจากทั่วประเทศมากถึง 93 คน และหลังเสร็จสิ้นการประลองความสามารถเพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักบิดเยาวชนไทยในรอบสุดท้าย ในที่สุดคัดเหลือเพียง 15 คนที่ได้ไปต่อ ได้แก่ ธนากร หลักหาญ, ธีรเทพ ต้านชัง, พีรวิชญ์ ฉัตรทันฑ์, พิสิษฐ์ บุรีวงค์, ธีรไนย ทับทิ, กฤษฎา ธนะโชติ,วาติกันต์ สุขคุ้ม, ณัฐพล แก้วมูล, ธุรกิจ บัวผา, รัชชานนท์ สีปัด, อภิรักษ์ อินอร่าม, กษิภัศ ใจเอื้อ, ธนัช ละอองปลิว, กันตพัฒน์ แยบการไถ และจักริน ศิริรัตนภูมี
ซึ่งแน่นอนว่ารายชื่อทั้งหมดนี้จะได้สัมผัสหลักสูตรการฝึกสอนแบบเฉพาะทาง จากสุดยอดนักแข่งชื่อดัง “โทรุ อูกาว่า” อดีตนักบิดญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าแชมป์โมโตจีพี รวมถึง “มาโกโตะ ทามาดะ” อดีตนักแข่งจากแดนปลาดิบและยังเป็นผู้มีประสบการณ์บนเวทีระดับโลกในรายการเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีฮีโร่นักบิดชาวไทย “ฟิล์ม-รัฐภาคย์ วิไลโรจน์” คนไทยคนแรกที่เคยโลดแล่นในรายการโมตีจีพี รุ่นโมโตทู ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้ฝึกสอนที่พร้อมจะถ่ายทอดวิชาบิดไปสู่ฝันให้กับน้องๆ ในโครงการนี้อย่างเต็มที่
อาวุธ ศิริรัตนภูมี คุณพ่อของน้องทีเด็ด-จักริน ศิริรัตนภูมี อายุ 13 ปี หนึ่งในเยาวชนนักบิดรุ่นแรกจากจังหวัดอำนาจเจริญ เผยว่า หากพิจารณาตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี ถือว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความฝันอยากเป็นนักแข่งให้มีขั้นตอนวิธีทำความฝันให้เป็นจริง ผ่านหลักสูตรการพัฒนาทักษะความสามารถ รวมถึงตัวลูกชายของเขาเองด้วย
“การเริ่มต้นทำอะไรก็ตาม ถ้ามองถึงเป้าหมายที่จริงจัง ทุกอย่างควรเริ่มตั้งแต่เด็ก ยิ่งการเป็นนักแข่ง อย่างน้องทีเด็ดเริ่มขี่รถวิบากตั้งแต่ชั้นอนุบาล พอรู้ว่าฮอนด้ามีเปิดรับนักแข่งหน้าใหม่ที่ต้องการผลักดันไปสู่การแข่งขันระดับโลก แม้เป็นสายทางเรียบ แต่เพื่อนๆ ของเขาไปสมัครกันหมด เขาก็อยากลองไปสมัครบ้าง และเมื่อผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ผมก็ยอมลงทุนซื้อฮอนด้า MSX125 ให้น้องเขาฝึกซ้อมทางเรียบโดยเฉพาะ”
“ช่วงนี้ทั้งผมและลูกชายก็เตรียมตัวให้พร้อมทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ทั้งการออกกำลังกาย วิ่ง ยกเวท รวมถึงซ้อมรถ เพราะน้องมีเป้าหมายโตขึ้นอยากเป็นนักแข่งแบบ พี่ชิพ(นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร์) ที่โลดแล่นบนเวทีโมโตจีพี รุ่นโมโตทรี อยู่ในตอนนี้ครับ” คุณพ่อของน้องทีเด็ด-จักริน กล่าว
ขณะที่ น้องพู-ณัฐพล แก้วมูล อายุ 14 ปี ดาวรุ่งจากเชียงใหม่บอกด้วยแววตาใสซื่อว่า “โตขึ้นผมอยากเป็นมาร์เกวซครับ” ก่อนที่คุณพ่อ-ศักดา แก้วมูล จะเสริมว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายก็ไม่ได้คลั่งไคล้กีฬาแข่งขันรถจักรยานยนต์มากเท่าไร อาจเป็นเพราะความคุ้นเคยมากกว่า เนื่องจากที่บ้านมีอาชีพเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์
“ด้วยความที่เขาอยู่กับมันทุกวัน อาจด้วยความซน อยากรู้อยากลอง ช่วงประมาณ 9 ขวบ พอดีที่ร้านมีสกู๊ตเตอร์คันเล็กๆ วันหนึ่งผมออกไปซื้ออะไหล่ ลืมดึงกุญแจออก กลับมาเห็นรถวิ่งอยู่ที่หลังบ้าน ปรากฏว่าน้องพูเป็นคนขี่ ตกใจมาก ทั้งที่ไม่เคยมีใครสอน เดาว่าคงเห็นจากผู้ใหญ่ จำวิธีการสตาร์ท การขี่ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาจับรถ” คุณพ่อ-ศักดา กล่าวและว่า
“หลังจากนั้นเขาก็ขี่เรื่อยมา แต่วิ่งแค่บนถนนทั่วไป ส่วนเรื่องความชอบในด้านการแข่งขัน ร้านผมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในโซนภาคเหนืออย่างที่รู้ว่าการแข่งสายทางฝุ่นได้รับความนิยม และร้านผมก็ทำพวกรถแข่งแนววิบากไปลงสนามอยู่บ้าง ซึ่งน้องพูก็ไปด้วย พอไปดูไปเห็น เขาก็มีความชอบ หลังจากนั้นก็พาไปด้วยตลอด”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลูกชายจะมีความชอบขนาดไหน แต่ประสบการณ์ในเกมดวลความเร็วยังเท่ากับศูนย์ เพราะผู้เป็นพ่อยังไม่อนุญาต จนเมื่อทราบข่าวโปรเจกต์บิดล่าฝันจากเอ.พี.ฮอนด้า เส้นทางความฝันของน้องพูก็เริ่มขยับเข้าใกล้ความจริง
“ด้วยความที่เป็นพ่อ ผมก็ไม่อยากให้เขาขี่เท่าไร เพราะเห็นว่าอันตราย อยากให้เขาตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่า แต่พอรู้ว่าฮอนด้า เปิดรับสมัครเด็กๆ เข้าโครงการ ผมก็ไปดูรายละเอียดเห็นว่าน่าสนใจ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยครบ ตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมก็ลองพาเขาไปสมัคร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นทางออกของลูกเราในการเริ่มต้นที่ดี ไม่ได้คาดหวัง ขอแค่ทำให้ดีที่สุด สุดท้ายก็สามารถผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้” คุณพ่อดาวรุ่งนักบิดจากเชียงใหม่ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางของนักบิดสายเลือดใหม่ทั้ง 15 คน หลังจบหลักสูตรจาก เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี่ แล้ว ก้าวต่อไปจะอัพเวเวลเพื่อฝึกฝีมือและเติมเต็มประสบการณ์ต่อในรายการ ไทยแลนด์ ทาเลนต์ คัพ ก่อนฝ่าด่านเกมการแข่งขันที่สำคัญในศึกเอเชีย ทาเลนต์ คัพ ซึ่งเป็นเวทีปล่อยของของดาวรุ่งนักบิดแห่งทวีปเอเชีย โดยดาวดวงไหนที่ฉายแววโดดเด่น ก็จะได้รับการผลักดันให้ก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับโลกต่อไปในอนาคต
...ตอนเด็กต้องทำอย่างไร เมื่อโตขึ้นฝันอยากเป็นนักบิดโมโตจีพี ขณะนี้มีคำตอบแล้ว
กีฬามอเตอร์สปอร์ตชาวไทย สามารถติดตามข่าวสารและร่วมส่งแรงใจเชียร์ทีมแข่งสัญชาติไทย "เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์" ได้ทางเว็บไซต์ www.aphondaracingthailand.com