How to ขอคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เริ่มวันที่ 25 มี.ค. 63 เป็นต้นไป

  • จิปาถะ อื่นๆ
  • promotion
  • 1
  • 18 มี.ค. 2563 14:05
  • 125.24.97.***





วิธีลงทะเบียนรับสิทธิ์
เงินคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า สูงสุด 6,000 บาท

เริ่มวันที่ 25 มี.ค. 63 เป็นต้นไป และรับเงินคืนได้ตั้งแต่ 31 มี.ค. 63
ไม่ต้องรีบ ไม่มีกำหนดหมดเขต แจกจนกว่าจะครบทุกราย





Highlight ของการลงทะเบียนขอรับเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

• ขอเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 300.-สูงสุดถึง 6,000.- แล้วแต่ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ สำหรับบ้านที่พักอาศัยส่วนใหญ่แล้ว จะได้รับเงินอยู่ที่ 2,000.- ต่อครัวเรือน มีหลายบ้านก็ได้รับตามจำนวนเลย แต่ต้องไปลงทะเบียน!

• สามารถดำเนินการลงทะเบียน ขอเงินประกันคืนได้ที่สำนักงานสาขาการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนาเพื่อรองรับอยู่จ้า

• เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 และจะคืนเงินให้หลังจากวันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะคืนในรูปแบบใด เงินสด โอนเงินเข้าบัญชี หรือเป็นส่วนลดค่าบริการไฟฟ้า




หลังจากที่คณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 63 ได้มีมติอนุมัติโครงการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก เพื่อช่วยลดกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังสร้างวิกฤติให้กับสภาพเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ได้รับผลกระทบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนก็คงจะเตรียมตัวไปขอเงินคืนกันแล้วแน่ๆ เลย เหมือนแจกเงินฟรี แต่ความจริงแล้วเราจ่ายส่วนนี้ไปก่อนตอนสมัครใช้ไฟฟ้า รัฐก็เลยคืนเงินส่วนนี้มาให้ก่อนกำหนด ไม่เหมือนกับโครงการ "ชิมช้อปใช้" ที่เป็นการแจกเงินให้เปล่าแบบนั้นนะ


พี่ โปร เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังสงสัยเกี่ยวกับค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้ากันอยู่ไม่น้อย แล้วจะลงทะเบียนรับสิทธิ์ขอเงินคืนได้ยังไง ต้องไปทำเรื่องที่ไหน แล้วจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ทั้งหมดนี้มีคำตอบให้แล้วจ้าาา~






เงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า คืออะไร?

เงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า จะถูกเรียกเก็บในตอนที่ผู้ใช้งานมาติดต่อเพื่อขอใช้มิเตอร์ไฟฟ้าและดำเนินการจ่ายไฟในครั้งแรก เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันนี้เป็นแบบ Post-Paid ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง พี่ promotion จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆนะ กล่าวคือลักษณะคล้ายกับค่าบริการเบอร์มือถือแบบรายเดือน แล้วค่อยเรียกเก็บเงินในภายหลัง เป็นใบแจ้งการชำระเงินส่งไปยังที่อยู่ที่ลงทะเบียน แล้วค่อยชำระเงินตามวันที่กำหนด การเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจึงเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ถ้าหากผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดเบี้ยวล่ะ ไม่ยอมชำระค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจะทำยังไง? ก็เลยมีการเรียกเก็บค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าไว้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้านั่นเอง ปกติเราจะได้รับเงินคืนก้อนนี้ก็ต่อเมื่อติดต่อขอยกเลิกการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ซึ่งน่าจะต้องใช้ไปยาวๆ จะได้เงินส่วนนี้คืนเป็นส่วนน้อยมากๆ จ้า โดยมิเตอร์แต่ละขนาดก็จะเสียเงินค่าประกันไม่เท่ากันเน้อ มิเตอร์ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งจ่ายเยอะตามไปด้วย





มิเตอร์ขนาด กับ เงินค่าประกัน






• มิเตอร์ขนาด 5(15) เหมาะสำหรับบ้านพักขนาดเล็ก เงินค่าประกัน 300 บาท

• มิเตอร์ขนาด 15(45) บ้านเรือนทั่วไปจะใช้มิเตอร์ขนาดนี้ เงินค่าประกัน 2,000 บาท

• มิเตอร์ขนาด 30(100) เหมาะสำหรับบ้านพักขนาดใหญ่ เงินค่าประกัน 4,000 บาท

• มิเตอร์ขนาด 15(45) 3 เฟส เป็นการใช้งานเชิงพาณิชย์หรือธุรกิจ เงินค่าประกัน 6,000 บาท



ถ้าจะแปลแบบพูดง่ายๆ พี่ โปรโมชั่น ก็เปรียบให้เหมือนกับว่าทางภาครัฐจะคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าส่วนนี้มาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนกำหนด เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะใช้งบประมาณรวม 30,000 ล้านบาท มีผู้ที่รับสิทธิ์รวมกว่า 20 ล้านคนเลยทีเดียว ได้เงินไปแล้วก็นำมาใช้จ่ายกันน้า ซื้อของจำเป็นก็ได้









3 ขั้นตอนลงทะเบียนรับเงินคืนง่ายๆ

การขอเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากเลยจ้า เพียงลงทะเบียนกรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ใช้เวลาไม่นาน เราก็จะได้เงินคืนมาแล้ว ถ้าเน้นเร็วสุดก็อยากให้ผู้จดทะเบียนมิเตอร์ไฟฟ้าดำเนินการด้วยตัวเองจะไวกว่าเน้อออ~




กรณีผู้จดทะเบียนมิเตอร์ดำเนินการด้วยตัวเอง จะต้องใช้ข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนทั้งหมด 3 อย่างได้แก่

• หมายเลขบัตรประชาชน

• ชื่อ-นามสกุล

• เลขที่สัญญาที่อยู่ในบิลค่าไฟฟ้า (กรอบสีแดง)





ซึ่งถ้าหากข้อมูลถูกต้องทั้งหมดถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนนะ และจะเริ่มจ่ายเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืนให้ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 63 เป็นต้นไป แต่ไม่ต้องรีบลงทะเบียนก็ได้ เพราะยังไงก็ได้เงินคืนแน่นอนถ้ามาทำเรื่องจ้า





กรณีผู้จดทะเบียนมิเตอร์ไมได้ดำเนินการด้วยตัวเอง

• กรณีเป็นทายาทเจ้าของมิเตอร์ หรือกลุ่มนิติบุคคลรับมอบอำนาจมาดำเนินการ จะต้องเตรียมระบบเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องว่าผู้ได้ที่รับเงินเป็นตัวจริง

• กรณีซื้อบ้านมือสองและชื่อยังเป็นเจ้าของเดิม ก็อยู่ที่ตกลงกันว่าจะเป็นเจ้าของเดิมที่มีชื่อจดทะเบียน หรือเจ้าของคนใหม่ ใครเป็นคนทำเรื่องรับเงินค่าประกันไปนั่นเอง





ช่องทางในการลงทะเบียนรับเงินคืน

ในเบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดแนวทางในการขอรับเงินคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าของประชาชนไว้ผ่าน 2 ช่องทาง





(1) ลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับประชาชนในเขตต่างจังหวัดทั่วประเทศ



(2) ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น - Coming Soon! ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้รองรับการลงทะเบียนได้ในอนาคตต่อไป ซึ่งจะให้ทั้งความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปการไฟฟ้า อยู่ที่ไหนก็ลงทะเบียนได้ ปูเสื่อรอยาวๆ เลย นี่แหละเวิร์ก




สถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ 
พี่ โปร อยากแนะนำทุกคนใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน รอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้รองรับการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์แล้วค่อยรับสิทธิ์กันก็ยังได้อยู่ เพราะถ้าหากว่าแห่กันไปที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ ก็มีความเสี่ยงจากคนจำนวนมากอยู่ด้วยกันในสถานที่พื้นที่จำกัด อาจจะหลีกเลี่ยงไปก่อนช่วงนี้ เป็นห่วงสุขภาพทุกคนจ้า รอติดตามข่าวสารอัปเดตเรื่อยๆ นะ

แม้ว่าเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้านี้ จะให้ความรู้สึกว่ามีเงินใช้มากขึ้น
แต่ความจริงแล้วเป็นเงินที่เราจ่ายไปก่อน อยากให้ใช้เงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สู้ไปด้วยกัน!




#SaveForMore #Saveเงินในกระเป๋า



App Punpro โหลดเลย ทั้งแจ้งโปร มีดิลร้อนลดราคาแรงๆ และบริการรับหิ้วสินค้าให้พร้อม
คลิ๊กเลย!!!
v
v