รวม 12 มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ลดผลกระทบ COVID-19

  • มอไซค์ คาเฟ่
  • promotion
  • 1
  • 12 มี.ค. 2563 11:55
  • 1.20.201.***





รวมมาตรการช่วยเหลือของทางภาครัฐ เฟสที่ 1
เพื่อบบรรเทาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของไวรัส COVID-19
ครอบคลุมทั้งนโยบายทางด้านการเงิน ภาษี และช่วยเหลือด้านอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย





Highlight ของมาตรการช่วยเหลือจากโควิด-19 เฟสแรกของรัฐบาล
• คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะดูแลลดผลกระทบให้กับประชาชน พนักงานบริษัท ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

• แนวคิดหลักของมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้คือ "ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจำเป็น" ซึ่งเน้นการปรับลดเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ช่วยเหลือทางด้านเงินลงทุน และมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้อง

• มาตรการที่หลายคนน่าจะสนใจเป็นพิเศษ คงจะเป็นคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าก่อนกำหนด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ทำให้แต่ละครอบครัวจะมีเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยเลย

หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และเริ่มกระจายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็ได้สร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวของผู้คนทั่วทุกมุมโลก เพราะไม่ใช่เรื่องว่าตัวเองจะติดเชื้อไวรัสหรือไม่ แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากการแพร่ระบาดข้ามทวีปจากเอเชีย ไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาก็คือภาวะเศรษฐกิจที่ดูแล้วน่าเป็นห่วงไม่แพ้กันเลย







ทำไมรัฐบาลถึงต้องออกมาตรการช่วยเหลือพิเศษ?


เนื่องจากก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็อยู่ในภาวะชะลอตัวมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ทางรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากโครงการ "ชิมช้อปใช้" ที่ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ และออก โปรโมชั่น
ทั้ง ลดราคา ซึ่งมีออกมาถึง 3 เฟส เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่มากขึ้นในภาคครัวเรือน รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นตัวส่งสัญญาณว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศเป็นยังไง แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา ซึ่งในช่วงแรกอาจจะดูไม่ได้รุนแรงอะไรมาก แต่เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ไม่ธรรมดา สามารถแพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิด ทำให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 100,000 คน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดได้เลย ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินและท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเต็มๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก คนไม่กล้าเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยง และบางประเทศถึงขนาดต้องปิดประเทศ เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก นักท่องเที่ยวลดลงกว่า 44% ในเดือน ก.พ. 63 ส่งผลกับธุรกิจต่างๆ เป็นลูกโซ่อย่างเลี่ยงไม่ได้







  สภาวะเศรษฐกิจที่แต่เดิมก็ไม่ได้เติบโตในระดับดีอยู่แล้ว เมื่อเจอความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจต่างๆ มากกว่าเดิม หลายบริษัทต้องลดจำนวนพนักงานลง หรือร้ายแรงที่สุดก็คือเลิกกิจการไปเลย จะเห็นว่าถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปก็คงไม่รอดกันหมดแน่นอน ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน จึงทำให้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและลดกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึง 12 มาตรการที่จะเข้ามาดูแลเบื้องต้น แต่นี่เป็นเพียงแค่เฟสแรกเท่านั้น ถ้าหากยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจภาพรวมฟื้นขึ้นมาได้ เชื่อว่าทางภาครัฐจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมอีกอย่างแน่นอน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ 
พี่ promotion นำมาแจ้งนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 63 สามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ มาตรการทางการเงิน, มาตรการทางภาษี และมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะอยู่ แต่ครอบคลุมทั้งภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน แต่เท่าที่ได้ลองอ่านแล้วจะเน้นไปทางธุรกิจซะเป็นส่วนใหญ่เน้อ






มาตรการทางการเงิน


(1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

แนวทางในการดำเนินการ จะให้ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินอื่นๆ อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสูงสุดไม่เกินคนละ 20 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบที่ขาดสภาพคล่องให้ช่วงเวลานี้

(2) มาตรการพักต้นเงินลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ*

ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และเงื่อนไขการรับประกันในด้านต่างๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น และยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเสริมสภาพคล่อง รวมถึง Refinance หนี้บัตรเครดิตอัตราดอกเบี้ยพิเศษอีกด้วย

*สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

(3) มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ หรือสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

(4) มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ของสำนักงานประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคมร่วมกับสถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์ "สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ" วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ธุรกิจสามารถจ้างงานลูกจ้างต่อไปได้







มาตรการทางภาษี

(1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ

• ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ชั่วคราว จากเดิม 3% เป็นอัตราใหม่ 1.5% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 ก.ย. 63
• ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ชั่วคราว จากเดิม 3% เป็นอัตราใหม่ 2% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 - 30 ธ.ค. 64
เฉพาะการจ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เท่านั้น

(2) มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จะสามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 31 ธ.ค. 63

(3) มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงาน

ผู้ประกอบการ SMEs หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือนเม.ย. - ก.ค. 63

(4) มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ผู้ประกอบการภายในประเทศเร็วขึ้น

คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
• กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ผ่านทางอินเทอร์เน็ต จะได้รับเงินคืนภายใน 15 วัน
• กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรสาขา จะได้รับเงินคืนภายใน 45 วัน







มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ

(1) มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ

การคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า หรือค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าตามขนาดที่ใช้งานสูงสุด 6,000.- ซึ่งปกติจะคืนเงินให้ก็ต่อเมื่อยกเลิกบริการไฟฟ้า เพื่อป้องกันกรณีไม่จ่ายค่าไฟฟ้า โครงการนี้จะใช้งบประมาณคร่าวๆ 30,000 ล้านบาท

(2) มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง

ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตน จากเดิมอัตรา 5% เป็นอัตราใหม่ 0.1% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ 2.75% ของค่าจ้าง เพื่อลดภาระของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

(3) มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

จะทำการลด, ชะลอ หรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ

มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

(4) มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน

ประชาชนสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท แยกจากกรณีปกติที่ลดหย่อนได้ 200,000 บาท แต่รวมแล้วต้องไม่เกินวงเงินหักลดหย่อนรวมของกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด สำหรับเงินลงทุนระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 63



นอกจากมาตรการในด้านต่างๆที่ 
พี่ โปร นำมาแจ้งตามข้าต้นแล้ว ก็ยังมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ลดระยะเวลาของกระบวนการจัดสรรงบประมาณให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แบ่งจากงบกลาง วงเงิน 20,000 ล้านบาทโดยเฉพาะ สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ



เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำลายปอดของผู้ติดเชื้อ
แต่ยังทำลายสภาวะเศรษฐกิจของทุกประเทศ
ทั่วโลกสาหัสไม่แพ้กัน





App Punpro โหลดเลย ทั้งแจ้งโปร มีดิลร้อนลดราคาแรงๆ และบริการรับหิ้วสินค้าให้พร้อม
คลิ๊กเลย!!!
v
v